หนี้ครัวเรือน พิษร้ายเศรษฐกิจไทย
ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังเป็นเนื้อร้ายเศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลไหนๆ ก็ยังแก้ไม่ตก
ในภาวะปกติปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาประเทศอยู่แล้ว ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 ระทบธุรกิจจนปิดกิจการจำนวนมาก ทำให้คนตกงานรายได้ลด ขณะที่รายจ่ายและหนี้สินยังเท่าเดิม ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยส่อเค้ามีปัญหาเพิ่มมากขึ้นไปอีก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงาน งานภาวะเศรษฐกิจสังคมของไทย ไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% อยู่ที่ 83.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมา จากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ที่ประเมินล่าสุดเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวติดลบ 6%
นอกจากนี้ มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมี งานทำจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีการปิดกิจการและเลิกจ้างงานและลดการจ้างงานจำนวนมาก
ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อหนี้ครัวเรือนก็ดูไม่ดี โดยข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของ ธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2563 มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 19.7%
จะเห็นว่าหนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เป็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง ไม่มีกันชนหลักประกันรายได้ เมื่อมีปัญหาตกงานขาดรายได้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะมาเป็นเงาตามตัวทันที เพราะต้องไปกู้ยืมหนี้ทั้งในและนอกระบบมาใช้จ่ายมาใช้หนี้ เมื่อถึงจุดที่ไปไม่ไหวก็ต้องยอมปล่อยให้เป็นหนี้เสียในที่สุด จนทำให้ NPLs หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
สภาพัฒน์ ยังระบุในรายงานว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้ นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทาย ของทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินในการออก แบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนใน สภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีความเห็นไม่ต่างจาก สภาพัฒน์ ว่า หนี้ครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคการของฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิด-19 เพราะการกระตุ้นการบริโภคที่ตอนนี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ส่วนหนึ่งก็ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตจะมีข้อจำกัดมากขึ้น
แม้แต่ธนาคารโลกก็ประเมินว่า พิษโควิด-19 กระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน คาดว่าจะมีคนกว่า 8.3 ล้านคนจะตกงานหรือสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ
ธนาคารโลกรายงานว่า ไทยจะมีจำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มีรายได้ต่อ วันต่ำกว่า 5.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะสูงขึ้น กว่าหนึ่งเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคนใน เป็น 9.7 ล้านคน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทาง เศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาค การผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวจาก 6% เป็น 20%
ซึ่งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การถูกเลิกจ้างงาน เป็นตัวเร่งปัญหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ภาวะเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและ ปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น
ถึงวันนี้ รัฐบาลมองข้ามปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อไปไม่ได้ การออกมายืนยันว่าหนี้ครัวเรือนไทยไม่น่าเป็นห่วง เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตอนนี้ หนี้ครัวเรือนของไทย ถือว่าน่ากลัว น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากนี้เพิ่มสูงขึ้น คุณภาพหนี้แย่ลงแล้ว คนแก้ปัญหาคือรัฐบาล ก็ยังไม่มี มาตรการใหม่มาแก้หนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวน่าเป็นห่วงมากกว่า
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่นาน หนี้ครัวเรือน นอกจากเป็นเนื้อร้ายเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังเป็นระเบิดเวลาการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกด้วย