โควิด-ล็อกดาวน์ฉุดกำลังซื้อกดเงินเฟ้อชะลอตัว
สนค.คาดปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ย 1.2 % ชี้มาตรการลดค่าครองชีพ-ราคาอาหารสด มีผลต่อการใช้จ่ายชะลอตัวลง
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ค. ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมาตรการ ลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล และการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภทยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 0.45 % (YoY) ชะลอตัวจาก 1.25% ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ร้อยละ 6.30 และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่และผลไม้สด ตามความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ ไข่ไก่และผลไม้สด ฐานราคาของปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ
ขณะที่มาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ในรอบเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 และการลด ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้งการลดลงของอาหารสดบางประเภท (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยทอนที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวจากเดือนก่อน
นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ยังคงขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัวร้อยละ 5.0 (YOY) จากร้อยละ 5.5 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YOY) จากร้อยละ 10.1 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงเล็กน้อยของอัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ และปริมาณการจำหน่ายเหล็ก
นายวิชานัน กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2564มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในชวงมาตรการลดค่าครองชีพผู้บริโภคของภาครัฐ ขณะที่ราคาพลังงานแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจแต่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากฐานราคาของปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวน้อยลง โดยปีนี้กรอบอัตราเงินเฟ้อยังระหว่าง 0.7-1.7% หรือเฉลี่ย 1.2%
ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ
อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง น่าจะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ คือที่ 1-3%