จุรินทร์ เจรจาค้าท่องเที่ยว-ลงทุนออสเตรเลีย นำเข้าสินค้าไทยเปิดทางรับบริจาคแอสตร้าฯ
‘จุรินทร์’ ถก รมต.การค้าออสซี่ ขอให้ช่วยนำเข้าสินค้า 4 รายการ พร้อมอ้าแขนรับบริจาค”แอสตร้าเซนเนก้า”จากออสเตรเลีย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับนายแดน เทฮัน รัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ผ่านระบบ Zoom Confirm เป็นการประชุมทางไกล ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ร่วมด้วย
หลังการหารือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ในทางการทูตกันมาครบปีที่ 69 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปีก่อนคือปี 2563 มูลค่า 13,198 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 409,021 ล้านบาท โดยตอนนั้นมูลค่าการค้าไทยออสเตรเลีย -7% ขณะที่ประเทศไทยยังได้ดุลการค้าออสเตรเลียอยู่ 6,523 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 201,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 ในช่วงครึ่งปีแรกตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายนการค้าไทยออสเตรเลีย ดีขึ้นมาก มีมูลค่าถึง 8,426 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 256,888 ล้านบาท เป็นบวกถึง 34.3%
โดย ประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีออสเตรเลียหารือ คือ
ประเด็นที่ 1 ออสเตรเลียมีความสนใจจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีความสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคี หรือ FTA ลดภาษีระหว่างกันเกือบครบทุกรายการ การจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยออสเตรเลียจะเป็นอีกรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่ลงลึกกว่า FTA ประเทศไทยขณะนี้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงใน 7 สาขา 1.การเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะด้านอาหาร 2.ด้านการท่องเที่ยว 3.ด้านบริการสุขภาพ 4.ด้านการศึกษา 5.ด้านอีคอมเมิร์ซ 6.ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7.อื่นๆ เช่น พลังงานหรือการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น ออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งให้ได้ข้อสรุปเร็ว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วขอเชิญตนไปลงนามการจะทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ออสเตรเลีย คาดว่าจะเป็นในปีหน้า
ประเด็นที่2 เสนอให้รัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้ง 2 ประเทศประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
ประเด็นที่3 การเร่งรัดข้อตกลง RCEP มีประเทศให้สัตยาบันแล้ว 3 ประเทศ สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยคาดว่าให้สัตยาบันต่อจาการ์ตาได้ในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งออสเตรเลียแจ้งว่าจะยื่นได้ในช่วงเวลาประมาณเดียวกันเพื่อให้ RCEP มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วภายในต้นปีหน้าตามเป้าหมาย
ประเด็นที่4 เรื่ององค์การการค้าโลกในการอุดหนุนการประมง ประเทศไทยมีจุดยืนในการสนับสนุนประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน โดยห้ามการอุดหนุน IUU Fishing (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมตามข้อตกลงของ IUU ซึ่งออสเตรเลียเห็นคล้อยตามกัน
ประเด็นที่5 เรื่อง APEC ซึ่งปีนี้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพอยู่จากนั้นปีหน้าประเทศไทยเราจะเป็นเจ้าภาพซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ทางออสเตรเสียได้สอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้เตรียมไว้ ตนจึงแจ้งว่าเตรียมประเด็นใหญ่ไว้ 3 ประเด็น 1.การเจรจาหาข้อสรุปการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก APEC 2.ข้อสรุปในการกำหนดแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด 3.การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศ APEC ภายใต้ทิศทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเด็นสุดท้าย ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งทางรัฐมนตรีออสเตรีเลียได้สอบถามสถานการณ์การบริหารงานของรัฐบาลตนจึงได้เรียนให้ทราบว่าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลผสม เช่นเดียวกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างแข็งขัน
"โดยเฉพาะทิศทางของรัฐบาลที่จะเดินหน้าภายใต้การแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจหัวใจสำคัญคือจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยเร็วที่สุด และจะเดินหน้าในเรื่องของเศรษฐกิจทั้ง 2 ด้านที่เป็นรูปธรรมคือ 1.เรื่องของการเร่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ควบคู่กับ 2.การเร่งรัดการส่งออก ขณะนี้การส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศคาดว่าในปี 2564 การส่งออกของไทยจะเติบโตเกินเป้าที่กำหนดไว้เดิม ที่ 4% ไปเป็นตัวเลขสองหลักได้ " นายจุรินทร์ กล่าว
จากนั้น นายจุรินทร์ นายจุรินทร์ ระบุว่าในสำหรับข้อเสนอของตนมี 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นซึ่งรายการสำคัญประกอบด้วย 1.สินค้าด้านการเกษตรโดยเฉพาะยางรถยนต์ซึ่งออสเตรเลียเลิกผลิตแล้วทั้งชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ ต้องนำเข้าเป็นโอกาสดีสำหรับยางรถยนตร์ของไทยที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ 2.อุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง เพราะประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลกและจะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง 3.อาหารแปรรูป เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศผลิตอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพและมีศักยภาพติด 1 ใน 10 ของโลก 4.อาหารสัตว์เลี้ยง เพราะอัตราขยายตัวสูงมากและออสเตรเลียจัดเป็นตลาดสำคัญต่อไปในอนาคตได้
ประเด็นที่สองในเรื่องที่ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ ขณะนี้ออสเตรเลียได้บริจาควัคซีนให้กับหลายประเทศ ตนได้เรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบว่าถ้าออสเตรเลียจะช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับประเทศไทยนั้นทางไทยก็ยินดีและขอขอบคุณล่วงหน้าในไมตรีจิต
โดยรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้