posttoday

รฟท.เตรียมอัพเกรดรถไฟไทยเป็นระบบไฟฟ้า

15 กันยายน 2564

รฟท.ดึง สจล.ศึกษาโมเดลรถไฟเป็นระบบไฟฟ้าเลิกหัวจักรดีเซล อิงต้นแบบญี่ปุ่น -อังกฤษ-เยอรมัน หนุนพลังงานสะอาดลดมลพิษ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)  “การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า” ว่า รฟท.มีแผนการพัฒนาปรับปรุงระบบรถไฟให้เป็นระบบรถไฟฟ้าครอบคลุมโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ รองรับการเดินทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลพิษในด้านต่างๆ

รวมถึงผลักดันการใช้พลังงานของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ทั้งนี้ได้ร่วมกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการร่วมกันคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้วัสดุในประเทศ เพื่อให้มีรูปแบบการบริการใหม่แก่ประชาชน มีวัตถุประสงค์การร่วมมือ ดังนี้

1.แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมในการเปลี่ยนรถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถดีเซลราง จากการใช้พลังงานน้ำมันดีเซล ไปสู่ระบบรถจักรไฟฟ้าและรถไฟฟ้า จากพลังงานไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System) ระบบพลังงานทางเลือกจาก hydrogen fuel cell หรือระบบรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Electric Vehicle หรือ EV) และการใช้แบตเตอรี่ในระบบขับเคลื่อนของรถไฟ   และ2.แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับสถานีจ่ายไฟฟ้า สถานีประจุพลังงานไฟฟ้าของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

รฟท.เตรียมอัพเกรดรถไฟไทยเป็นระบบไฟฟ้า

“การร่วมมือครั้งนี้เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางของการรถไฟฯ ไปสู่ระบบไฟฟ้าในด้านต่างๆ เหมือนในประเทศที่ได้เริ่มพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี  ซึ่งมีการวิจัยนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนรถไฟ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ด้านดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งบูรณาการณ์องค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสถาบันฯ มีความพร้อมทั้งบุคลากรและทรัพยากรและพร้อมที่ให้ความร่วมมือกับรฟท.ในการพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางราง ด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู้ระบบไฟฟ้า