posttoday

บินไทย พลิกกำไร 5.5 หมื่นล้าน หลังเข้าแผนฟื้นฟู เล็งกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง

28 กุมภาพันธ์ 2565

‘ปิยสวัสดิ์’ชี้การบินไทยผ่านจุดต่ำแล้ว เมื่อเริ่มมีรายได้ ล่าสุดกำไร 5.5หมื่นล้าน เตรียมกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านใช้หมุนเวียน ลุ้นออกมาจากแผนฟื้นฟูฯก่อนกำหนด

นายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% 

ทั้งนี้เป็นผลจากรายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง 

ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 โดยจะนำไปจ่ายชดเชยพนักงาน 4,000 กว่าล้านบาท การคืนค่าตั๋วโดยสารให้ลูกค้า 1หมื่นล้านบาทและที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยจะใช้หลักทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่มูลค่า 3หมื่นล้านบาทคาดจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม นี้

รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ ขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

“ผลการดำเนินงานการบินไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว การเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู มีการลดค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างทุน และเริ่มกลับมาบินได้ จะส่งผลดีต่อการบินไทย กลับมามีกำไรและมีโอกาสที่จะออกจากแผนฟื้นฟูก่อน5 ปีได้”

สำหรับเหตุการณ์ของรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น การบินไทยยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะยกเลิกการบินผ่านน่านฟ้ายูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มาจากจากรัสเซียก็เป็นลักษณะของการเช่าเหมาลำ ซึ่งยังบินได้ตามปกติ  ขณะที่ผลกระทบราคาน้ำมันนั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนการเดินทางทั้งอุตสาหกรรม โดยราคาตั๋วโดยสารก็ต้องปรบขึ้นทั้งระบบหวังว่าจะเป็นแค่ช่วงนั้นๆเท่านั้น