ธุรกิจร้านอาหารโตต่อแต่ต้องสู้ต้นทุนสูง คาดปี 66 มูลค่ารวมแตะ 4.25 แสนล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดธุรกิจร้านอาหารยังเติบโตทั้งปีนี้และปีหน้า ซึ่งมูลค่ารวมในปี 2566 จะอยู่ที่ 4.18- 4.25 แสนล้านบาท หรือโต 2.7%-4.5% ย้ำผู้ประกอบการรอรับมือต้นทุนสูงจากราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารของไทยในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มทำรายได้เติบโตต่อเนื่อง แต่ไปในทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565 อีกทั้งการฟื้นตัวยังมีปัจจัยเฉพาะของประเภทการให้บริการและเฉพาะพื้นที่ โดยกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) ร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารในศูนย์การค้า มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี
โดยมีปัจจัยบวกจากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ควบคู่กับการทำตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่มีการขยายสาขาปรับรูปแบบการให้บริการเป็น Limited Service เพื่อลดต้นทุนและรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำเชนร้านอาหารใหม่จากต่างประเทศเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่
ทว่าการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมยังมีความเปราะบาง จากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก
ส่วนปัจจุัยที่ท้าทายต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างต้นทุนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2565 มีต้นทุนการทำธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้นโดยรวมเฉลี่ยกว่า 14% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายต้องปรับขึ้นราคาอาหาร โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% จากปี 2564
นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย ทำให้ผู้ที่จะลงทุนใหม่ต้องระมัดระวังในการลงทุน และต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเติบโตของธุรกิจยังอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยปี 2566 มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารน่าจะอยู่ที่ราว 4.18-4.25 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.7%-4.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 12.9% ในปี 2565
อย่างไรก็ตาม มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นผลจากความท้าทายในการฟื้นตัวของร้านอาหารประเภท Full Service (ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ)
ส่วนการฟื้นตัวของรายได้จาก Street Food (มีหน้าร้าน ไม่รวมหาบเร่ แผงลอย) และ Limited Service (ร้านอาหารที่ให้บริการแบบจำกัด) อาจกลับไปสูงกว่าก่อนโควิดได้ แต่การรักษาความสามารถในการทำกำไรยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ร้านอาหารแต่ละประเภทต่างมีปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตต่างกัน นั่นคือ Full Service เป็นร้านที่มีราคาอาหารต่อจานเฉลี่ยสูง ทำให้รายได้อาจขยายตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าอีกสองประเภท
ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบหันมาเน้นขยายและปรับรูปแบบมาสู่แนว Limited Service มากขึ้น อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากการทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภค
สำหรับ Street Food ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว แต่ด้วยจำนวนร้านที่มากและกำไรต่อหน่วยต่ำ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเข้าออกเร็ว