จี้สรรพากรสอบ LINE ปมจ่ายภาษี พบไม่แจ้งในงบการเงิน
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. จี้ DES-กรมสรรพากร ตรวจสอบนิติกรรม “ไลน์” หลังปิด “LINE IDOL” ให้ย้ายไปใช้ LINE OA ทำผู้ประกอบการต้นทุนพุ่ง 716% พบไม่มีรายงานค่าใช้จ่ายเรื่องภาษีในงบการเงิน
กรณีแอปพลิเคชั่น LINE ประกาศปิดการให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยให้ย้ายไปใช้LINE official account หรือ LINE OA ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแทน กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ล่าสุดมีการเสนอให้กรมสรรพากร เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายภาษีของบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น LINE
การปิดการให้บริการ LINE IDOL ครั้งนี้จะส่งผลกระทบโดยผู้ใช้ LINE OA ราว 5 ล้านราย มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยจ่าย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน เพราะในราคาแพ็กเกจ ที่กำหนดไว้ใน LINE OA นั้น มีการจำกัดจำนวนข้อความที่ส่งไว้ หากเกินจากนั้นจะคิดค่าบริการการส่งเพิ่มเติม เช่นแพ็กเกจ 1,500 บาท จะจำกัดการส่งข้อความไว้ที่ 35,000 ข้อความ หากเกินจากนั้นจะคิด 0.04 บาทต่อหนึ่งคนที่ได้รับการส่งข้อความ (ราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และในฐานะที่ปรึกษาประธานบอร์ด กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโครงสร้างธุรกิจของแพลทฟอร์มต่างประเทศ ช่วงแรกเปิดให้ทดลองใช้ฟรีหลังจากนั้นเริ่มจัดเก็บค่าบริการ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก หากไม่สนับสนุนสปอนเซอร์ จะเปิดกั้นการมองเห็น
ดังนั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส และกรมสรรพากร ควรเข้าไปตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัท ไลน์ ประเภทนิติกรรมเป็นรูปแบบไหน โดยเฉพาะกรมสรรพากร สามารถเข้าไปตรวจสอบนิติกรรมลงทะเบียนได้หาก LINE จัดเก็บค่าบริการ LINE OA ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไรบ้าง
“สรรพากร มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบรายได้ของ ไลน์ แต่ถ้าหาก ไลน์จดทะเบียนในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นมาร์เก็ตติ้ง กรมสรรพากร ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ จัดเก็บได้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น”
จากการตรวจสอบข้อมูลไลน์ประเทศไทย พบว่า บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2557 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีนายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ถือหุ้นสูงสุด 50% รองลงมาคือ ไลน์พลัส คอร์ปอเรชั่น บริษัทในเครือของ ไลน์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศเกาหลี ถือหุ้นในสัดส่วน 49.98% และมะปราง สมบัติไทย ถือหุ้นอีก 0.03%
ไลน์ได้รายงานงบการเงิน สิ้นสุดณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ว่ามีหนี้สินรวมมากว่าสินทรัพย์ 647 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์ 4,193.6 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 4,840.6 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการในปี 2565 มีรายได้รวม 6,087.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 627% เมื่อเที่ยบกับปี 2564 โดยเฉพาะรายได้หลักจากการดำเนินงานที่มีเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ที่มี 834.5 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,485.2 ล้านบาท และรายได้อื่น เพิ่มขึ้นจาก 2.2 ล้านบาท เป็น 602.3 ล้านบาทในปี 2565
ส่วนรายจ่ายรวมในปี 2565 อยู่ที่ 6,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 716.50% เมื่อเทียบกับปี 2564
รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากต้นทุนขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 435.6 ล้านบาท เป็น 4,374.1 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ เพิ่มขึ้นจาก 222 ล้านบาท เมื่อปีก่อน เพิ่มเป็น 1,561.5 ล้านบาทในปีนี้ ส่งผลให้ผลประกอบการไลน์ประเทศไทยมีกำไร 71.9 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 99.5 ล้านบาท ลดลง 27% แต่มีข้อสังเกตุว่าในรายงานงบการเงินของไลน์ไม่ได้แจ้งการจ่ายภาษีแต่อย่างใด
ด้านดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ แสดงความคิดเห็นกรณีที่ บริษัท ไลน์ประเทศไทย จำกัด ปิดตัวให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 นี้ แล้วให้ลูกค้าย้ายไปใช้ LINE OA แทนโดยมีค่าใช้จ่าย ว่า ตลอดหนึ่งทศวรรษแพลตฟอร์มต่างประเทศ มีอำนาจเหนือตลาดกำหนดกลไกราคาได้ดังนั้นถึงเวลาที่เหล่าบรรดาเอเจนซี่ต้องต่อรองกับแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ให้ได้