คาด 30 สมาร์ท ซิตี้ ดันการลงทุนรัฐ-เอกชน 6 หมื่นล้านบาท
ดีป้า เตรียมของบประมาณปี 2567 จำนวน 2,310 ล้านบาท สร้างซิตี้ ดาต้า แพลตฟอร์ม 77 จังหวัด หวังเชื่อมโยงข้อมูลระดับประเทศ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ รวมถึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่างๆ สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมืองทั่วประเทศ คาดว่าปีนี้จะมีเพิ่มขึ้นอีก 15 เมือง รวมเป็น 45 เมือง โดยมีการประเมินว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 30 เมืองแรกนั้น จะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีการสร้างมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต
หัวใจสำคัญของสมาร์ท ซิตี้ คือ การใช้เทคโนโลยีให้แต่ละพื้นที่เข้าถึงความเจริญ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อทุกเมืองเป็นสมาร์ท ซิตี้ หมด คุณภาพชีวิตของทุกคนจะเท่าเทียมกันเหมือนอยู่กรุงเทพฯ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิต พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
กระทรวงดีอีเอส โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ ดีป้า กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นดำเนินการในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนพื้นที่ให้พัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะของตนเอง สามารถระบุพื้นที่พัฒนาเมืองโดยมีขอบเขตชัดเจน มองเห็นศักยภาพและปัญหา
อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมเรื่องระบบบริการทั้ง 7 Smarts ได้ตรงตามบริบทของพื้นที่ และวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและด้านดิจิทัล รองรับระบบบริการเมือง รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน
สำหรับสถานะของสมาร์ทซิตี้ มีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมือง ใน 23 จังหวัด จากที่มีการเสนอมาทั้งหมด 75 เมือง (เป็นเมืองเดิม 69 เมือง และเมืองใหม่ที่กำหนดขึ้นเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น อีอีซี 6 เมือง) ที่เหลืออีก 45 เมืองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ
ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจาก 30 เมืองอัจฉริยะจำนวน 60,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะมาจากการลงทุนภาครัฐ33% หรือ 20,000 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 67% คิดเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเมืองอัจฉะริยะด้วยการยกเว้นภาษี 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) และเพิ่มเติมอีก 5 ปี (ลดหย่อน 50%) หากตั้งในพื้นที่อีอีซี
เมืองที่จะเป็นสมาร์ท ซิตี้ ต้องเลือกเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ด้าน สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) โดยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นภาคบังคับที่ทุกเมืองต้องมี
นายณัฐพล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 ดีป้าจะของบประมาณ 2,310 ล้านบาท ในการทำโครงการ ซิตี้ ดาต้า แพลตฟอร์ม ทั่วประเทศ 77 จังหวัด หวังเชื่อมโยงข้อมูลระดับประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกันและใช้ข้อมูลเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล แก้ปัญหา และสามารถสร้างนโยบายตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของแต่ละจังหวัด โดยงบประมาณดังกล่าวดีป้าจะนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างมาตรฐานดาต้า เบส ให้กับจังหวัด คาดว่าจะใช้งบประมาณจังหวัดละ 30 ล้านบาท