posttoday

สสว. เตรียมผู้ประกอบการพร้อมรับเศรษฐกิจฟื้น คาดปีนี้ GDP ของ SMEs บวก 4.9%

15 กุมภาพันธ์ 2566

สสว. เตรียมผู้ประกอบการรับเศรษฐกิจฟื้น คาดปีนี้ GDP ของ SMEs บวก 4.9% เดินหน้าผลักดันให้เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะด้าน BCG และ ESG

ภายในงาน “อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน?” ที่จัดโดยสื่อเครือเนชั่นนั้น นายมานิต​ จตุจริยพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริม​ธุรกิจ​ SMEs สำนักงานส่งเสริม​วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงศักยภาพในการสร้างรายได้หรือ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) ของกลุ่ม  SMEs ในปี 2566 ว่า

 

ปีนี้ตัวเลข GDP ของ SMEs จะขยายตัวถึง 4.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.31 ล้านล้าบาท สำหรับปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 6.02 ล้านล้านบาท หรือเติบโตถึง 4.9% จากปี 2564  ที่มูลค่า 5.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า

 

โดยแบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มรายย่อย หรือ Micro  (รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/จ้างงานไม่เกิน 5 ราย) ที่ 2.6% กลุ่มขนาดย่อม หรือ SEs (รายได้เกิน 50 ล้านบาท/จ้างงานไม่เกิน 30 ราย) ที่ 14.4% และกลุ่มขนาดกลาง หรือ MEs  (รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท/จ้างงานน้อยกว่า 30 ราย) ที่ 17.6%

 

สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ SMEs ในไทย ปี 2565 นั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,198 ราย หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 0.64% จากปี 2564 แบ่งเป็นกลุ่ม Micro อยู่ที่ 85.74% กลุ่ม SEs ที่ 12.91% และกลุ่ม MEs ที่ 1.35%

 

ทั้งนี้มองว่าด้วยการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้ จากการเปิดประเทศและคนจีนเข้ามามากขึ้น จึงน่าจะมีผลให้ SMEs เติบโตดีขึ้น และน่าจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงมองว่าด้วยเทรนด์ใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง Future Food ก็จะเป็นตัวส่งเสริมให้ SMEs มีช่องทางในการขายมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังเปิดเผยอีกว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวในปีนี้ แต่ก็ยังมี SMEs บางส่วนที่อาจยังไม่พร้อมฟื้นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นทาง สสว. จึงพยายามออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนด้านการท่องเที่ยว เพื่อช่วย restar ทั้งในแง่การเตรียมความพร้อม จัดหาเงินทุนส่งเสริม ปรับตัวด้านบริการ ฯลฯ 

 

รวมถึงยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสริมให้กลุ่ม  SMEs  เข้มแข็งได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในปีนี้ที่จะให้น้ำหนักกับเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) และ ESG ( Environmental, Social, and Governance) สำหรบกลุ่มที่ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศยุโรปและสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทของ สสว. ที่จะส่งเสริมให้ SMEs สามารถเติบโตไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลกได้นั้น ทางนายมานิตระบุว่า ในปีนี้ได้ร่วมมือกับทางสำนักงานโครงการสอบวัดทักษะวิชาการระดับชาติ (สวช.) เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเข้าใจในเรื่อง SMEs BCG มากขึ้น ว่าหากทำแล้วมีประโยชน์หรือมีผลดีอย่างไร เพื่อสร้างนักพัฒนา BCG จากผู้ประกอบการจำนวน 500 ราย ที่จะเป็นกลุ่มที่จะผลักดันให้เกิด SMEs BCG อย่างเป็นรูปธรรม


นอกจากนี้ยังช่วยเหลือในแง่สนับสนุนเงินทุน เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ เช่น มาตรการค้ำประกันเงินกู้ร่วมกับทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ด้วยหวังว่าจากที่ สสว. นำร่องไปก่อนแล้วจะนำไปสู่การออกมาตรการภาพใหญ่ของภาครัฐตามมาในอนาคต 

 

สำหรับในด้านการพัฒนาและสร้างมาตราฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้นั้น ทาง สสว. ได้จัดสรรเงินทุนให้ได้ถึง 80% สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ เช่น กลุ่ม Micro วงเงิน 80,000 บาท SEs 100,000 บาท และ MEs 200,000 บาท แต่หากผู้ประกอบกลุ่ม SMEs สนใจมาตรการช่วยเหลือต่างของภาครัฐก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลและสมัครได้ที่ https://www.sme.go.th ก็ได้


"ในช่วงวิกฤติโควิด 16 ที่ผ่านมาทาง สสว. เองก็ได้สนับสนุนในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีส่วนช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจซื้อขายกับภาครัฐยังสามารถอยู่รอดได้ถึงวันนี้"