“พาณิชย์” ชี้ช่องทางทำตลาดสินค้า "อาหารฮาลาล” ไทยในจีน
DITP ชี้ช่องทางขยายตลาด “อาหารฮาลาล”ไทยสู่ตลาดจีน แนะผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำตลาดควรเริ่มจากกลุ่มผัก ผลไม้ อาหารทะเล เหตุเป็นสินค้าฮาลาลธรรมชาติ ส่วนที่มีประสบการณ์เน้นอาหารสำเร็จรูป เพื่อสุขภาพ และประชาสัมพันธ์ผ่านอีคอมเมิร์ซ-โชเซียลมีเดีย เจาะกลุ่มวัยรุ่น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่าจากข้อมูลช่องทางการขยายตลาด“อาหารฮาลาล”ของไทยเข้าสู่ตลาดจีนของนายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมในตลาดจีน หลังจากได้ทำการศึกษาและสำรวจตลาด พบว่า สินค้าไทยมีโอกาสในการขยายตลาดได้สูงมาก
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า แนวทางการรุกตลาดอาหารฮาลาลของผู้ประกอบการไทยที่เพิ่งเริ่มทำตลาด ควรเริ่มต้นด้วยสินค้ากลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล และน้ำตาลทราย เป็นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคมีความเชื่อว่าเป็นฮาลาลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาลมีโอกาสในการขยายตลาดในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และอาหารฮาลาลเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพ เนื่องจากแนวโน้มของกระแสรักสุขภาพที่ขยายวงกว้างขึ้นจนอาจก้าวขึ้นเป็นสินค้าที่นิยมกันโดยทั่วไปในอนาคต
สำหรับช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้า ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซและโชเซียลมีเดียเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าหรือทำการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในตลาดจีน เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่ม ผู้บริโภคได้ในวงกว้าง โดยอาจใช้ Influencer ที่มีชื่อเสียงในประเทศนั้น ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของตนเอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และนิยมติดตามข้อมูลข่าวสารทางโชเซียลมีเดีย ทั้งยังมีแนวโน้มจะเปิดรับอาหารฮาลาลสไตล์ต่างชาติมากกว่าผู้บริโภคช่วงวัยอื่น
นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรมุสลิมในจีนมีประมาณ 30 ล้านคน แม้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,412 ล้านคน โดยตลาดผู้บริโภคอาหารฮาลาลส่วนใหญ่ในประเทศจีน อาศัยอยู่แถวภาคกลางและทางตะวันตกของจีน อาทิ มณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นต้น แต่พฤติกรรมของชาวมุสลิมในจีนส่วนใหญ่ จะนิยมบริโภคสินค้าในประเทศ เนื่องจากค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องความเชื่อทางศาสนาและมีความเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าฮาลาลแท้
ส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทย ยังมีส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น และการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศที่ค่อนข้างจำกัดโดยภาครัฐ และประชาชนส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องความเชื่อทางศาสนา จึงทำให้สินค้าอาหารฮาลาลของไทยมีสัดส่วนทางการตลาดน้อยมากในตลาดจีน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็สะท้อนว่าสินค้าอาหารฮาลาลของไทย ยังคงมีโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจสูงในตลาดจีน
โดยผู้ประกอบการควรเร่งสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของความเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นจีนซึ่งเปิดรับและนิยมสินค้าต่างประเทศมากกว่าคนกลุ่มอื่น รวมทั้งการศึกษาพฤติกรรมการบริโภค ตลอดจนประชาสัมพันธ์สินค้าฮาลาลผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าอาหารฮาลาลไทยในวงกว้างต่อไป