posttoday

กลุ่ม ปตท. ร่วมปิดไฟ 1 ชั่วโมง พร้อม 7,000 เมืองทั่วโลก

11 เมษายน 2566

กลุ่ม ปตท. รณรงค์ลดภาวะโลกร้อน (60+Earth Hour 2023) พบปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดค่าไฟ 61,324 บาท ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 5.2 ตัน

     ทุกวันเสาร์สุดท้ายเดือนมีนาคมของทุกปี ระหว่างเวลา 20.30-21.30 Earth Hour โครงการร่วมมือระดับนานาชาติ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อตระหนักถึง “ภาวะโลกร้อน”ซึ่งหลังจากการปิดไฟ 1 ชั่วโมง พบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง เท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ร่วมกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงลดภาวะโลกร้อน (60+Earth Hour 2023) กับกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ และอาคาร พร้อมกันกับเมืองต่างๆ มากกว่า 7,000 เมืองทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้พลังงานและร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน 

กลุ่ม ปตท. ร่วมปิดไฟ 1 ชั่วโมง พร้อม 7,000 เมืองทั่วโลก

     ทั้งนี้ ผลจากความร่วมมือดังกล่าวพบว่า เมื่อปิดไฟ 1 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 5.2 ตัน รวมทั้งลดค่าไฟฟ้าได้มากถึง  61,324 บาท และความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 36 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาเดียวกันของวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wild Fund for Nature) หรือ WWF ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน

     ในการรณรงค์ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชนลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่างๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)  

     ผลจากการจัดกิจกรรม "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)" ในปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯสามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 20 ตัน คิดเป็นมูลค่า 176,172 บาท และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551-2565 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 22,476 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,255 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาท

     สำหรับปี 2566 WWF กำหนดให้การจัดกิจกรรมปิดไฟฯ ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มี.ค. โดยในปีนี้กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และภาคีเครือข่าย ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก"