พาณิชย์ ดัน “ไพล” เป็นสมุนไพร Herbal Champion สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าดัน “ไพล” เป็นสมุนไพร Herbal Champion ชี้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุค้าปลีกสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่าราว 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยครองอันดับ 8 ของโลก ตั้งแต่ปี 59 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3.8 แสนล้านบาท
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับ สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน (ICE) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ศึกษาวิเคราะห์โอกาสทางการค้าสมุนไพร “ไพล” ซึ่งไพลเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal Champion) ตามประกาศของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยสามารถนำมาแปรรูปจากวัตถุดิบพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย (เช่น สารสกัด น้ำมันหอมระเหย เป็นต้น) อีกทั้ง ยังใช้เป็นส่วนผสมหรือวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (เช่น ตำรับยาประสะไพล ยาหม่องไพล ลูกประคบ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องสำอาง เป็นต้น)ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและความงาม สะท้อนจากมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรที่เติบโตต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่า ปี 2565 การค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก มีมูลค่ารวม 56,510 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน) มีมูลค่า 1,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2566 จะมีมูลค่า 1,676.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6
ผอ.สนค. กล่าวว่าการศึกษาโอกาสทางการค้าสำหรับสมุนไพรศักยภาพของไทย รวมถึง “ไพล” มีข้อจำกัดด้านข้อมูล เนื่องจากไพลมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศน้อยมาก ทำให้ไม่มีพิกัดศุลกากรที่เป็นสากล จึงขาดสถิติข้อมูลการค้าระหว่างประเทศที่จะนำมาศึกษาวิเคราะห์ อย่างไรก็ดี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) เริ่มติดตามมูลค่าการนำเข้าและส่งออกไพลมาตั้งแต่ปี 2559 พบว่า ช่วงปี 2559-2564 ไทยนำเข้าไพลรูปแบบแห้งจากเมียนมา รวม 26,750 กิโลกรัม (26.75 ตัน) เป็นมูลค่า 520,106 บาท และไทยส่งออกไพลในรูปแบบแห้ง แช่เย็น และผง ไปประเทศต่าง ๆ อาทิ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มีปริมาณรวม 2,171.1 กิโลกรัม (2.17 ตัน) และมีมูลค่าส่งออกรวม 383,102 บาท
ข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2564 มีการปลูกไพลทั่วประเทศ 169 ไร่ แหล่งผลิตสำคัญอยู่จังหวัดกาญจนบุรี เชียงใหม่ น่าน สระแก้ว และสกลนคร มีผลผลิตรวม 507 ตัน (ลดลงมากจากปี 2562 และปี 2563 ที่มีปริมาณผลผลิต 1,935 และ 1,539 ตัน ตามลำดับ) จะเห็นว่า ผลผลิตไพลของไทยยังมีความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งหมด (การส่งออกไพลของไทยในช่วงปี 2559-2564 มีปริมาณเพียง 2.17 ตัน) ราคาเฉลี่ยไพลสด 12 บาท/กิโลกรัม ไพลแห้ง 100 บาท/กิโลกรัม ไพลผง 150 บาท/กิโลกรัม และน้ำมันหอมระเหย 5,000 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ จากระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) จังหวัดที่มีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกไพล อาทิ บึงกาฬ กระบี่ นราธิวาส สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และชุมพร สำหรับปัญหาสำคัญในการปลูกไพล คือ ไม่ควรปลูกไพลซ้ำที่เดิมติดต่อในปีถัดไป เนื่องจากปัญหาโรคเหง้าและรากเน่า ต้องสลับปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นก่อนการปลูกในฤดูถัดไป และหากต้องการไพลคุณภาพสูงเพื่อนำมาสกัดน้ำมัน ต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 2 ปี จึงอาจทำให้เกษตรกรขาดรายได้และไม่มีแรงจูงใจในการปลูกไพลให้ได้คุณภาพ ซึ่งภาครัฐต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านการเพาะปลูก การหาตลาด การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ สนค. ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ให้ข้อมูลสถานการณ์สินค้าไพล ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ภาครัฐให้การส่งเสริม อาทิ
(1) เชียงใหม่: มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากไพลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 31 ราย มีการแปรรูปและนำนวัตกรรมมาใช้ อาทิ “แผ่นแปะไพล” ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนา โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(2) น่าน: เกษตรกรมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพการจัดการแปลง การเก็บเกี่ยวเพื่อแปรรูป ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อีกทั้ง วิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จากภาครัฐ
(3) บึงกาฬ: ปลูกไพลตามมาตรฐานกรมส่งเสริมการเกษตร ปลูกเป็นระยะเวลา 2 ปีจึงจะเก็บเกี่ยว โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ สินค้าจากไพลเป็นที่ต้องการเนื่องจากใช้เป็นยารักษาโรคเบื้องต้น
(4) นราธิวาส: เกษตรกรมีการทำสัญญากับโรงพยาบาลรามัน เพื่อส่งมอบไพลปริมาณ 2 ตัน/ปี และ (5) ราชบุรี: มีการรวมกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแบบแปลงใหญ่สมุนไพร ในพื้นที่ตำบลด่านทับตะโก ปลูกตามมาตรฐาน GAP และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์สินค้าไพลในต่างประเทศ ได้รับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่าไพลเป็นที่รู้จักส่วนใหญ่ในประเทศแถบเอเชียที่มีการปลูกไพล (เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม) และประเทศแถบแคริบเบียน ก็มีการใช้ไพลในตำรับยาพื้นบ้าน (เช่น จาเมกา ตรินิแดดและโตเบโก เกรนาดา และโดมินิกัน) อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สนค. พบว่าไพลยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และบางประเทศไม่ปรากฏข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากไพล ผู้บริโภคขาดความเข้าใจในสินค้า นอกจากนี้ ไพลจัดอยู่ในพืชตระกูลขิง ทำให้ผู้บริโภคมีความสับสนเกี่ยวกับสรรพคุณและการนำมาใช้ประโยชน์ สำหรับช่องทางการจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ สินค้าผลิตภัณฑ์ไพลจากไทยไม่สามารถพบได้ตามร้านค้าทั่วไป อาจมีจำหน่ายในร้านค้าปลีกสินค้าไทย และช่องทางออนไลน์
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า สินค้าไพลหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไพล หากได้รับการส่งเสริมที่ดี มีโอกาสพัฒนาและสร้างมูลค่าให้สูงขึ้นอีกมาก ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ชุมชน และเกษตรกร ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การผลิตที่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ การเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนและได้รับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ส่งเสริมการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณสำหรับศึกษาประสิทธิภาพระดับคลินิก และการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับไพลให้มากยิ่งขึ้น เช่น การมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย รวมทั้งประโยชน์ด้านสุขภาพและความงาม เพื่อสามารถผลักดันให้ไพลเป็นสมุนไพร Herbal Champion ที่แข็งแกร่งต่อไป