posttoday

กางแผน สธ. รับอุบัติเหตุวันปีใหม่ 'เร็ว-เมา-หมวก' หลังปี 67 ตายกว่า 284 ราย

17 ธันวาคม 2567

กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง 27 ธ.ค.67 - 2 ม.ค.68 พร้อมแนวทางป้องกัน-ลดอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนจาก 'เร็ว-เมา-หมวก' หลังสถิติปี 2567 มีอุบัติเหตุสะสมกว่า 2,288 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตกว่า 284 ราย เตรียมส่ง อสม.เคาะประตูบ้านเพื่อเตือนสติไม่ให้ผู้ดื่มสุราออกมาขับขี่

จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญดังนี้

  •  เกิดอุบัติเหตุสะสม 2,288 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,307 ราย เสียชีวิต 284 ราย
  • ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดคือ จักรยานยนต์ ร้อยละ 80.7
  • สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุได้
  • พบร้านค้ากระทำความผิด ทั้งขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย รวมถึงขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 

 

สำหรับในปี 2568 ที่จะถึง ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งคาดว่าประชาชนจะมีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รัฐบาลจึงจัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและวันหยุด ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อจัดการความเสี่ยงสำคัญ “เร็ว เมา หมวก”

ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “เดินทางปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ให้ อสม. เป็นทีมสนับสนุนดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน และสอดส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้นเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสนับสนุนการทำงานเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดเตรียมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน ให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมพร้อมบุคลากร สถานที่ ยา เวชภัณฑ์ จัดทีมกู้ชีพประจำตามเส้นทางสายหลัก และให้ อสม. ช่วยดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน สอดส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ  

ทั้งนี้ หากประชาชนบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่รุนแรงเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่

นอกจากนี้ ด้านกรมควบคุมโรคในฐานะผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในช่วงเทศกาล ให้มีการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างเข้มข้น รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้กระทำผิดทั้งการขายในสถานที่ห้ามขาย เวลาห้ามขาย (ขายได้ในช่วง 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น.) การเร่ขาย หรือการโฆษณาส่งเสริมการขาย โทรแจ้งได้ที่ ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค หมายเลข 0 2590 3342 หรือ สายด่วน 1422

ส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้กำชับให้ อสม. ทั่วประเทศ ดูแลประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ ด่านชุมชน โดยมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน/ชุมชนไม่ให้ดื่มแล้วขับ รวมทั้งประเมินสภาวะการมึนเมา คัดกรองคนในชุมชนหรือหมู่บ้าน ณ ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกถนนใหญ่ และยังได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก โดยนำประสบการณ์จากช่วงควบคุมโควิด 19 “อสม.เคาะประตูบ้าน” มาปรับใช้ในการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ โดยให้ อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกเยี่ยมบ้านที่มีการดื่มสังสรรค์ เพื่อเตือนสติไม่ให้ผู้ดื่มสุราออกมาขับขี่ รวมทั้งให้ช่วยสอดส่องร้านค้าในชุมชนไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างถูกวิธีก่อนส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตหรือความพิการได้