posttoday

PwC คาดควบรวมกิจการไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัว

01 พฤษภาคม 2566

หลังธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาปัดฝุ่นแผนการควบรวมกิจการจากที่ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ชะลอการทำดีลตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 65 สอดคล้องกับแนวโน้มเชิงบวกทั่วโลก

นางสาวฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดการควบรวมกิจการ(Merger & Acquisition: M&A) ของไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังปริมาณและมูลค่าการควบรวมเห็นการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับปี 2564 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้กิจกรรมการทำดีลโดยรวมต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่า กิจกรรมการควบรวมในปีนี้จะไม่สูงเท่ากับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2564

แนวโน้มของการควบรวมกิจการของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสที่จะฟื้นตัวแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องการจะโตต่อ ธุรกิจที่กำลังแสวงหาธุรกิจอื่นที่ตนยังขาด หรือธุรกิจที่ต้องการผันตัวเองไปยังอุตสาหกรรมอื่น รวมไปถึงผู้ที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ new s-curve จะเริ่มกลับมาซื้อหรือขายกิจการกันอีกครั้ง
 

นางสาวฉันทนุช กล่าวว่า ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการของไทยนั้นปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4ของปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอแผนการควบรวมเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ปัจจัยหลาย ๆ อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเวลานี้สัญญาณของการฟื้นตัวเริ่มชัดเจนขึ้นโดยฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายของดีลหลาย ๆ ดีลกลับมาเตรียมตัวกันใหม่อีกครั้ง

ดังนั้นเมื่อธุรกิจเดินมาถึงจุดหนึ่งย่อมจะไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตจากภายในเพียงอย่างเดียวได้ หากต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การทำ strategic M&A และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตโฟลิโอ จึงกลายมาเป็น catalyst ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับแนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับรายงาน Global M&A Industry Trends: 2023 Outlook ของ PwC ที่คาดว่ากิจกรรมการควบรวมกิจการทั่วโลกน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากนักลงทุนและผู้บริหารปรับสมดุลระหว่างความเสี่ยงระยะสั้นและกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในระยะยาว โดยซีอีโอมากกว่าครึ่ง (60%) ที่ถูกสำรวจ กล่าวว่า ไม่มีแผนที่จะชะลอการควบรวมกิจการในปีนี้แต่อย่างใดแม้จะมีปัจจัยเชิงลบที่กดดันการดำเนินธุรกิจก็ตาม

ทั้งนี้ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการทั่วโลกในปี 2565 รายงานระบุว่า ปรับตัวลดลง 17% และ 37% จากปี 2564ที่ปริมาณการควบรวมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนดีลมากกว่า 65,000 ดีลส์ (คิดเป็นมูลค่า 5,268 พันล้านสหรัฐ) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอัตราดอกเบี้ยสูง การประเมินมูลค่าหุ้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น 

เช่นเดียวกับปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ปรับตัวลดลง 23% และ 33% ในช่วงระหว่างปี 2564 ถึง 2565 นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีปริมาณและมูลค่ากิจกรรมการควบรวมปรับตัวลดลงมากที่สุดที่ 46% และ 35% ตามลำดับ

สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์ของการส่งออกที่ลดลง ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆที่ต้องการขยายตลาดเข้าสู่เอเชียจึงมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดอื่น ๆ แทนไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ในปี 2565 ปริมาณการควบรวมกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีจำนวนทั้งสิ้น 16,238 ดีล (เปรียบเทียบกับ 21,166 ดีลส์ในปี 2564) ขณะที่มูลค่าการควบรวมอยู่ที่ 826 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เปรียบเทียบกับ 1,233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564) นอกจากนี้ รายงานของ PwC ยังระบุถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีโอกาสจะเห็นกิจกรรมการควบรวมในปีนี้ ประกอบไปด้วย

1. อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม: การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของหลายธุรกิจโดยกิจกรรมการควบรวมด้านซอฟต์แวร์จะยังคงเป็นกระแสหลักของกลุ่มธุรกิจนี้ เช่นเดียวกับในปี 2565 หรือคิดเป็นสองในสาม (71%) ของดีลในกลุ่มเทคโนโลยี และสามในสี่ (74%) ของมูลค่าดีล ขณะที่การควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นจุดสนใจในปีนี้ ได้แก่ โทรคมนาคม เมตาเวิร์ส และวิดีโอเกม

2. อุตสาหกรรมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและยานยนต์: การเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตโฟลิโอจะช่วยผลักดันการซื้อและการขายกิจการของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบรวมกิจการที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและการเร่งเปลี่ยน แปลงองค์กรสู่ดิจิทัล

3. อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน: การหยุดชะงักที่เกิดจากแพลตฟอร์มและการเข้ามาของฟินเทคทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทั่วทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนการควบรวมกิจการเพราะผู้เล่นต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล

4. อุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภค และทรัพยากร: การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานจะยังคงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับนักลงทุนและทีมผู้บริหารในการเคลื่อนย้ายเงินทุนขนาดใหญ่ไปสู่การควบรวมกิจการและการพัฒนาโครงการเงินทุนอื่น ๆ

5. อุตสาหกรรมตลาดผู้บริโภค: ในขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภค ยังคงเป็นความท้าทายที่ดำเนินต่อไปในปี 2566 การทบทวนพอร์ตโฟลิโอ และการมุ่งเน้นการทำธุรกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะช่วยสร้างโอกาสในการควบรวมกิจการ

6. อุตสาหกรรมสุขภาพ: ความจำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตจะขับเคลื่อนกิจกรรมการควบรวมกิจการในปี 2566 โดยเทคโนโลยีชีวภาพ การทดลองทางคลินิกและการรับทำวิจัยตามสัญญา/การพัฒนายา การรับวิจัยทดลองในสัตว์ และการผลิตตามสัญญาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพของลูกค้าโดยตรง และโซลูชันการดูแลสุขภาพทางดิจิทัลจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก

นางสาว ฉันทนุช กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับธุรกิจที่มีความสนใจต้องการซื้อหรือขายกิจการผ่านการควบรวม ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเตรียมความพร้อมหลังจากที่หลาย ๆ ธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงาน ปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งความสามารถที่แท้จริงของกิจการจะถูกสะท้อนออกมาในงบการเงินและช่วยให้ธุรกิจสามารถประเมินศักยภาพของตัวเองเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด