posttoday

ส่งออกพ.ย.67 โต 8.2% คาดทั้งปีทำนิวไฮมูลค่าแตะ 3 แสนล้านเหรียญ โต 5.2%

25 ธันวาคม 2567

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือนพ.ย.67 โต 8.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่าโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เตรียมประเมินผลกระทบเงินเฟ้อ-ส่งออกจากการขึ้นค่าแรง 400 บาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน ว่ามีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 849,069 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 8.2% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 7.0% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก 

ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9% ดุลการค้า ขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งออกพ.ย.67 โต 8.2% คาดทั้งปีทำนิวไฮมูลค่าแตะ 3 แสนล้านเหรียญ โต 5.2%

ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว5.7% ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าในอนาคต โดยภาพรวม
การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ตลาดหลัก ขยายตัว 8.3% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ  9.5% จีน 16.9% สหภาพยุโรป 11.2% และ CLMV 21.0% ขณะที่ญี่ปุ่น หดตัว 3.7% และอาเซียน (5) หดตัว 1.5% เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่ากว่า10 ล้านล้านบาท สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ 

ส่วนแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน


หากส่งออกปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 5.2% มีมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะทำนิวไฮครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2565 มีมูลค่า 2.87 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท 4 จังหวัด 1 อำเภอนำร่อง คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2568 นั้น ประเมินว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าทุน แต่อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม เพราะไม่ได้หมายความว่า กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี ที่ใช้แรงงานน้อยจะได้รับผลกระทบน้อยเสมอไป ทั้งนี้สนค.อยู่ระหว่างดำเนินประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงต่ออัตราเงินเฟ้อ และการส่งออกต่อไป 

เช่นเดียวกับการติดตามผลกระทบจากนโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ หรือจะมีความยืดหยุดมากขึ้น เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับมือของไทย กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือ ถึงความต้องการของสหรัฐ เพื่อให้ไทยสามารถตอบโจทย์ทางการค้าของสหรัฐเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยระยะข้างหน้าต่อไป