posttoday

ยุพธัช ยิบอินซอย ทายาทรุ่น 3 แห่ง YIP IN TSOI ต่อภาพ IT สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด

07 พฤษภาคม 2566

ยุพธัช ยิบอินซอย ทายาทรุ่น 3 ของกิจการที่ยืนยาวเกือบ 100 ปี เช่น YIP IN TSOI ต่อภาพธุรกิจ IT สู่พลังงานสะอาด จับมือสตาร์ทอัพในเครือ ขับเคลื่อนผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า RYN ควบคู่พัฒนา Powerwall สำหรับโซลาร์ฟาร์มให้กักเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ต้นทุนต่ำ

ธุรกิจของ  กลุ่มยิบอินซอย ( YIP IN TSOI)  ก่อตั้งเมื่อ  ปี 2469  ณ อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมีผู้ก่อตั้งหลักเป็นสมาชิกจากตระกูลลายเลิศ   ยิบอินซอย  และจูตระกูล   เริ่มก้าวแรกจากธุรกิจการทำเหมืองแร่และจำหน่ายอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่พ่อค้าแร่ทั้งในและต่างประเทศ  ภายใต้ชื่อ   “บริษัท ยิบอินซอยแอนด์กำปะนี จำกัด ” และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “บริษัท ยิบอินซอย จำกัด”  ในปี 2473

โดยมีการพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมุมมองของกลุ่มผู้บริหารที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ กระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเริ่มเป็นผู้บุกเบิกการค้าปุ๋ยเคมีเป็นรายแรกของไทย  ที่นำเข้าปุ๋ยเคมีคุณภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกรภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้”          

ในปี 2510 ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบริษัท ยิบอินซอย ฯ ร่วมทุนกับบริษัท วิลเลี่ยมแย๊คส์   จำกัด     (ประเทศมาเลเซีย)    ก่อตั้ง บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัด  ด้วยต้องการควบรวมธุรกิจปุ๋ยเคมีเกษตรและวัตถุก่อสร้างและเครื่องเหล็กของทั้งสองบริษัทไว้ด้วยกัน เพื่อการขยายเครือข่ายทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ทีมงาน

กระทั่งในปี 2515 บริษัท ยิบอินซอย ฯ ได้เข้าไปดูแลและควบคุมกิจการทั้งหมดของ บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ ฯ ทำให้กลายมาเป็นกิจการในเครือของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด แต่เพียงผู้เดียว

ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บริษัท ยิบอินซอยฯ ขณะที่กลุ่มธุรกิจ trading company ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ครอบคุมในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีเกษตร ก่อสร้าง และยานยนต์  จะมีบริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ฯ ดูแลเป็นหลัก 

ขับเคลื่อนจักรยานยนต์ไฟฟ้า RYN

สำหรับบทบาทของ กลุ่ม YIP IN TSOI ในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาดนั้น ยุพธัช ยิบอินซอย กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทยิบอินซอย เล่าว่า จากที่บริษัทและพันธมิตรอีกรายคือ กลุ่มไอ-มอเตอร์ได้มีโอกาสไปร่วมลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพของกลุ่มบางจาก อย่าง “วินโนหนี้” (Winnonie) ซึ่งเป็นการระดมทุนซีรีส์ A รวมมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท หรือราว 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น ทำให้บริษัทเล็งเห็นโอกาสที่่จะพัฒนาธุรกิจผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยมุมมองที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น

ดังนั้นจึงนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า R Y N ฝีมือคนไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้บริษัท โซลารินน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในเครือบริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ฯ โดย YIP IN TSOI ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดตัว รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า R Y N ตั้งแต่เมื่อปี  2565 ภายในมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2022 อีกทั้งความร่วมมือนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "พัฒนางานวิจัยสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม" เพื่อนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน  (Na-ion battery) ของโรงงานแบตเตอรี่ไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

โดยโครงการ "พัฒนางานวิจัยสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม" มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงานแบตเตอรี่ และ พลังงานยุคใหม่ ของ มข. ไปใช้ในอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ อุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะมีการนำแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน ไปใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้งานทางอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และ บุคลากรของ มข. หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียง YIP IN TSOI จะนำแบตเตอรี่ลิเธียมอิออนไปใช้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ยี่ห้อ RYN แต่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะพัฒนาและส่งมอบแบตเตอรี่โซเดียมอิออน จำนวน 5 kw hr ให้กับบริษัท เพื่อนำไปใช้ในระบบ กักเก็บพลังงาน ในโครงการ Smart Farming ของบริษัท อีกด้วย

โดย ยุพธัช คาดว่า ภายใน 2 เดือนข้างหน้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า R Y N จากการผลิตครั้งแรก 75 คัน จะสามารถส่งมอบให้แก่ลูกค้าที่เป็นธุรกิจโลจิสติกส์ 3 ราย เพื่อนำไปทดสอบและทดลองใช้ก่อน ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาปรับปรุงสำหรับการผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ  เพื่อจำหน่ายแบบขายส่งต่อไป และคาดว่าจะมียอดสั่งผลิตขั้นต่ำที่ราว  200 คันขึ้นไป จากกำลังการผลิตต่อรอบที่ 400-500 คัน

ยุพธัช ยิบอินซอย ทายาทรุ่น 3 แห่ง YIP IN TSOI ต่อภาพ IT สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด

ยุพธัช เปิดเผยอีกว่า มอเตอร์ไซค์ RYN ที่ผลิตสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจโลจิสติกส์จะแตกต่างจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในแง่ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือระบบควบคุมโลจิสติกซึ่งบริษัทพัฒนาเอง ที่สามารถตรวจสอบ ดูความเคลื่อนไหว ที่ข้อมูลทุกอย่างจะยิงขึ้นไปใน cloud system แล้วสามารถติดตามได้ เช่น น้ำมันเหลือเท่าไหร่ พลังงานเหลือเท่าไหร่ วิ่งไปแค่ไหน ไกลแค่ไหน นอกเส้นทางหรือไม่ 

เช่นเดียวกับในแง่ของสร้างแบรนด์ บริษัทฯ จะนำผลิตภัณฑ์ส่วน 8 คันแรก (ไม่รวมกับ 75 คันที่ส่งมอบให้ลูกค้ากลุ่มแรก) ไปแสดงศักยภาพในการแข่งขันจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วย และคาดว่าจะเปิดตัว RYN อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

สำหรับแผนงานขยายธุรกิจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า RYN ในอนาคตนั้น  ยุพธัชเปิดเผยอีกว่า จะส่งออกไปยังลูกค้าที่เป็นบริษัทโลจิสติกส์ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่จะขยายด้านการรับจ้างผลิตแบบ OEM สำหรับผู้ประกอบการที่จะนำไปจำหน่ายต่อกับกลุ่มผู้บริโภครายย่อยด้วยในอนาคต โดยมีกลุ่มผู้จำหน่ายจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เสนอขอซื้อที่ 2,000 คัน เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ แต่จะมีรูปแบบและคุณสมบัติการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากที่ผลิตให้แก่บริษัทโลจิสติกส์ 

สุดท้าย RYN จะผลิต 3-4 รุ่น ซึ่งจะถูกพัฒนามาจากประโยชน์และความต้องการของผู้ใช้งานจริง ๆ ตั้งแต่กลุ่มโลจิสติกส์ที่มีระบบควบคุมต่าง ๆ ให้ กลุ่มแม่บ้าน ที่รถใช้งานง่ายไม่ต้องเปลี่ยนแบตบ่อย ๆ กลุ่มไรเดอร์ ที่รถมีประสิทธิภาพและทนทานสูงแต่ราคาย่อมยำ 

สร้าง Powerwall ลดต้นทุนพลังงาน

นอกจากนี้ภายใต้การทำงานของ บริษัท โซลารินน์ ฯ กลุ่ม YIP IN TSOI ยังต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานสะอาด โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ Powerwall ที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้แบตเตอรี่โซเดียมอิออนที่ผลิตโดย มข. เพื่อนำไปใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ในโครงการ Smart Farming ของบริษัท และบริษัทพันธมิตรที่ทำธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่จากต่างประเทศถึง 50% 

สำหรับผลิตภัณฑ์ Powerwall ของ บริษัท โซลารินน์ฯ จะอยู่ในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ ที่ติดตั้งในโซลาร์ฟาร์มหรือในพื้นที่ใช้งาน ซึ่งพัฒนาจากความร่วมมือระหว่าง YIP IN TSOI ที่รับผิดชอบด้าน Battery Management มข. พัฒนาตัวแบตเตอรี่โซเดียมอิออน และบริษัทเจ้าของโซลาร์ฟาร์มที่สนับสนุนตัวแผงโซลาร์เซล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบที่โรงงานของบริษัทและที่โซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ภาคใต้ของบริษัทพันธมิตรในไตรมาส 3 ของปีนี้  

โปรเจกต์ Powerwall จะเกิดขึ้นที่โรงงานในอยุธยาของเรา ซึ่งเป็นโรงงานผสมปุ๋ยและผลิตปุ๋ย ที่ต้องการให้เก็บไฟฟ้าได้ประมาณ 500 กิโลวัตต์ต่อวันเพื่อใช้พลังงานไฟทั้งวัน โดยไม่ต้องเสียตังค์สักบาท  จากเดิมที่ตอนนี้เสียค่าไฟเฉลี่ยเดือนละ 3-4 แสนบาท เราอยากได้ข้อมูล reference  เพราะหากสำเร็จ จะช่วยให้ภาคเกษตรของไทยจะลดต้นทุนมหาศาล และแข่งขันกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะว่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลัก ๆ ที่ 20-30% และยังต่อยอดไปกลุ่มอื่น ๆ ได้ด้วย"

 
เดินหน้าสนับสนุนสตาร์ทอัพ

ไม่เพียงแค่แจ้งเกิดสตาร์ทอัพในเครือเท่านั้น แต่กลุ่ม YIP IN TSOI ยังเดินหน้าสนับสนุนกิจการหน้าใหม่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท จากการบอกเล่าของยุพธัช ที่ว่า แนวทางของบริษัทคือจะลงทุนกับสิ่งที่มีความรู้หรือมีส่วนที่เอื้อกัน ไม่ใช่ลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทนจากการเติบโตของบริษัท ๆ นั้น เป็นหลัก

ยุพธัชยังเน้นย้ำว่า แนวทางของยิบอินซอยคือจะลงทุนกับสิ่งที่มีความรู้หรือมีส่วนที่เอื้อกัน ไม่ใช่ลงทุนพียงเเพื่อเน้นผลตอบแทนจากการเติบโตของสตาร์ทอัพ แต่สามารถช่วยเหลือกันให้เติบโตยิ่งขึ้น เพราะว่าหากไปลงทุนอะไรที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจ นั่นคือในแต่ละวันหลังลงทุนไป ก็เพียงรอดูว่าเมื่อไหร่กิจการเหล่านั้นจะทำได้ดี แล้วเมื่อไหร่จะสำเร็จ ซึ่งวิธีการลงทุนแบบนั้นไม่ใช่แนวทางของยิบอินซอย แต่ต้องการลงทุนเพื่อขยายอาณาจักรของบริษัทและของสตาร์ทอัพเหล่านั้นไปด้วย

ดังเช่นล่าสุด ที่กลุ่มบริษัท YIP IN TSOI ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของ EASYRICE (บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด) ที่นำระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมข้าวไทย ด้วยการนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือก (EASY RICE MP) เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิต และการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร (EASY RICE MO) เพื่อให้ได้มาตรฐาน 

นอกจากนี้ นวัตกรรมของ  EASYRICE ยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรให้อยู่ในมาตรฐานระดับสากล  ซึ่งด้วยระบบ AI ยังทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดโอกาสผิดพลาด และช่วยเหลือให้การตรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเท่าตัว รวมถึงช่วยให้การเก็บข้อมูลง่ายมากขึ้น สามารถจัดการ ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้ผู้ใช้งานของ EASYRICE สามารถนำผลวิเคราะห์ที่ได้ไปเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตของตนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสายพันธุ์ข้าวที่มีมูลค่าสูงอย่าง กข15 (หอมมะลิ)* และ หอมมะลิ 105 (ขาวดอกมะลิ 105)* เป็นสายพันธุ์ที่เน้นทั้งเรื่องคุณภาพ และความบริสุทธิ์ของพันธุ์ ซึ่งหากผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การเกษตรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ จะช่วยส่งเสริมให้สามารถพัฒนาคุณภาพการปลูก การควบคุมคุณภาพของผลผลิต ไปจนถึงการขาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยุพธัช เปิดเผยอีกว่า ยิบอินซอยให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะมาตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคการเกษตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ในการก้าวเข้าสู่ Digital Agri-Tech ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจภาคการเกษตร

โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพของสินค้า ซึ่งเทคโนโลยีเป็นข้อมูลสำคัญ ที่จะช่วยทำให้กระบวนการปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตมีความแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การเกษตรสามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก 

สำหรับการร่วมทุนในกับ EASYRICE เราต้องการสนับสนุนในด้านนวัตกรรมทางด้านการเกษตร  ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทที่มีพื้นฐานและประสบการณ์ด้านการเกษตรมายาวนานกว่า 97 ปี ในรูปแบบของ Smart Agricultural  ซึ่งมีการนำเอาข้อมูลเชิงลึกไปใช้วิเคราะห์สถิติข้อมูลทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรในอนาคต และผลักดันให้วงการเกษตรกรรมไทยก้าวสู่เวทีโลกได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีนวัตกรรมอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ EASYRICE ที่ทางยิบอิน  YIP IN TSO ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การตรวจสอบและคักแยกความสุกของทุเรียน การคัดกรองสายพันธ์และกระดองของปูนิ่ม ตรวจสอบสารพิษตกค้างในสัตว์ทะเล เป็นต้น 

นอกจากนี้กลุ่ม YIP IN TSOI ยังลงทุนใน บริษัท โมรีน่า โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นสตาร์ทอัพด้าน BIOTECHNOLOGY ที่ได้รับการร่วมทุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนา และสร้างปัจจัยการผลิต และระบบการทำการเกษตร (Farming system) และปศุสัตว์แบบครบวงจร

โดยเน้นหลักการใช้สารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่สร้างปัจจัยการผลิตโดยใช้นวัตกรรมด้าน Biotechnology ที่บริษัทมีมากว่า 20 ปี เพื่อนำปัจจัยในการผลิตที่มีมามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น

ยุพธัช ได้ทิ้งท้ายถึงการสนับสนุนและลงทุนในกิจการเกิดใหม่อีกว่า "เราเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ดูแล้วน่าจะทำงานด้วยกันได้ แล้วต่างคนต่างได้ประโยชน์ในการร่วมมือกัน แต่ในตอนนี้ยังไม่ขยายการลงทุนเพิ่ม"