posttoday

แผนอีวีไทยสะดุดยกแผง ครม.ประยุทธ์เตะถ่วง

08 พฤษภาคม 2566

เปิดมติบอร์ดอีวี กับแผนสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ หวังดันไทยสู่ฮับผู้ผลิตรถอีวีอาเซียน ส่อแววล่าช้า เหตุรอชงเข้าครม.ชุดใหม่

ประเทศไทยนับเป็นประเทศผู้นำด้านการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในอาเซียน ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต รัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้น โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ “การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ”อีกทั้งยังกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2573 หรือนโยบาย 30@ 30 การผลิต 30% ในปี 2573 

ส่องผลงานบอร์ดอีวี

ผลการดำเนินการของบอร์ดอีวี ที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการครอบคลุมหลายด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุน,มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน,มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมทั้งมาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น ได้แก่ ห้องปฎิบัติการทดสอบแบตเตอรี่,ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ และสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 รับทราบแนวทางการดำเนินงานการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนนั้น มีผลการดำเนินการ ดังนี้

ด้านอุปทาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วน 17 ชิ้น รวมทั้งการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 15 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 27,745 ล้านบาท ผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 37 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 18,410 ล้านบาท และผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนสถานีอาจประจุไฟฟ้าจำนวน 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2,174 ล้านบาท 

ด้านอุปสงค์ กรมสรรพสามิตได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3)  โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตรถยนต์และรถกระบะจำนวน 9 ราย ได้แก่ GWM, TOYOTA,SAIC-MOTOR,MG,BYD,BENZ,NETA,MINE และ GREEN FILTER และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 3 ราย คือ HONDA, DECO และ HSEM

นอกจากนี้สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างและการเช่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในภารกิจแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งานหรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่รวมทั้งเพิ่มเติมรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนกลาง

ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องรวม 123 มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากลรวมทั้งเปิดให้บริการทดสอบยานยนต์ยางล้อและแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน UN R100 และ UN R136 ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จังหวัดฉะเชิงเทรา

ส่องแผนหนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่

ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง บอร์ดอีวีจึงได้เสนอมติที่ประชุม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 ,การประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ต่อ ครม.เพื่อทราบและพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ระยะที่ 2 (EV3.5) และกรอบงบประมาณในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดแผนงาน และมาตรการต่างๆที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก คือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้แก่

1.การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 3 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 คือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 2 แพ็ค หรือต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 4 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 3 แพ็ค

2. มาตรการสนับสนุนเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย บนหลักการ First Come- First Serve เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว

สำหรับเงินสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh 

ทั้งนี้ เนื่องจาก วงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย

3. การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอรับสิทธิสามารถใช้สิทธินำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปมาก่อนและได้รับเงินสนับสนุนเพื่อให้สามารถเริ่มต้นการผลิตได้เร็ว โดยผู้ขอรับสิทธิจะต้องแสดงหลักฐานให้เชื่อได้ว่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยในอนาคต เช่น บัตรส่งเสริมการลงทุนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 4 สัญญาซื้อเช่าที่ดินและหลักประกันจากธนาคาร เป็นต้น

โดยกรมสรรพสามิตจะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไปเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้ขอรับสิทธิซึ่งใช้สิทธินำเข้าแบตเตอรี่จะมีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในภายหลัง

4. เงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ

4.1 แบตเตอรี่ที่ผลิตต้องมีไลฟ์ไซเคิล ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยนับจาก 70% ของ Nominal Capacity ที่ Depth of Discharge ไม่ต่ำกว่า 80% ณ อุณหภูมิทดสอบ 20-25 องศาเซลเซียส โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จากห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ภายใต้ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ( ATTRIC) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC

4.2 การผูกเงื่อนไขหรือสร้างกลไกให้เกิดการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับเซลล์ production สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

4.3 การกำหนดเงื่อนไขสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในมาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่นคุณสมบัติด้านประสิทธิภาพของรถยนต์ (ความสามารถในการชาร์จไฟหรือระยะทางต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง) หรือคุณสมบัติด้านความปลอดภัย

4.4 การกำหนดให้แบตเตอรี่เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อควบคุมคุณภาพของแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศและนำเข้า

4.5 การกำหนดระบบการกำจัดแบตเตอรี่หรือกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่โดยอ้างอิงกฎหมายที่มีอยู่แล้วในการกำกับดูแล เช่น กฎกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (โรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ 2535 

4.6 การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสินแร่ หรือวัตถุดิบหายากจากแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้บันทึกรายงานการประชุมระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตแบตเตอรี่แสดงความประสงค์ที่จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ที่มีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 8 GWh/ปี ในประเทศไทยตามเป้าหมายการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ตั้งไว้

จึงเห็นควรให้ชะลอการดำเนินมาตรการดังกล่าวจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าจะมีการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ

ทั้งนี้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตนำมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไปหารือกับผู้ที่สนใจลงทุนให้เกิดความชัดเจนและนำเสนอมาตรการดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอขอใช้งบประมาณต่อครม.ในโอกาสแรก

ครม.ดับฝันไม่ดูวาระการประชุม

ทว่าทันทีที่การประชุม ครั้งที่ 2/2566 มีนโยบายผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอีวีดังกล่าวออกไป พบว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือถึง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานลงวันที่ 10 มี.ค. 2566 แสดงเจตนารมณ์ในการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรรี่ลิเธียมไอออนของบริษัท จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 GWh/ปี และอยู่ระหว่างการขยายเป็น 4 GWh/ปี ในปีนี้ จึงมีความพร้อมในการลงทุนสู่ 8 GWh/ปี ในทันที 

แต่การเสนอครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ก่อนยุบสภา เพื่อให้รับรองมติการประชุมของบอร์ดอีวีทั้ง 3 ครั้ง ในการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของไทยกลับสะดุด เพราะวาระการประชุมของกระทรวงพลังงานมีการนำเสนอเป็นวาระการประชุมแล้ว แต่กลับไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด 

เบื้องหลังของการไม่พิจารณาวาระการประชุมของครม.นั้น เกิดขึ้นจากใคร ... ใคร คือ "ไอ้โม่ง" ที่เป็นตัวการในการทำให้แผนอีวีของประเทศสะดุดยกแผง สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน รอติดตามตอนที่ 2 ต่อไป