คต. เร่งเอาผิด กรณีพบการปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวม 604 ฉบับ
กรมการค้าต่างประเทศ เร่งดำเนินการตามกม.กับผู้กระทำการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของกรมฯ หลังพบมีการปลอมแปลงถึง 604 ฉบับ เดินหน้าประสานศุลกากรประเทศปลายทางอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมทางการค้าระหว่างประเทศของไทย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 คต. ได้รับการประสานจากหน่วยงานศุลกากรต่างประเทศ(คต.) เพื่อขอความร่วมมือกรมฯ ตรวจสอบย้อนหลังหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้แสดงต่อศุลกากรต่างประเทศในการนำเข้าสินค้าจากไทยจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,055 ฉบับ แบ่งเป็น
1 หนังสือรับรองที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Form FTA) ได้แก่ Form D / Form E / Form AK และ Form AI จำนวนรวม 788 ฉบับ
2 หนังสือรับรองที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษี (Form CO ทั่วไป) จำนวนรวม 267 ฉบับ ซึ่งจากการดำเนินการตรวจสอบพบว่า เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอมซึ่งไม่ได้ออกโดยกรมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 604 ฉบับ แบ่งเป็น 1) Form FTA จำนวน 382 ฉบับ และ 2) Form CO ทั่วไป จำนวน 222 ฉบับ
ทั้งนี้ คต. อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเร่งดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว และประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศุลกากรประเทศผู้นำเข้าปลายทาง เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง
จากการตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม จำนวน 604 ฉบับ พบว่า เป็นการปลอมแปลงเอกสารโดยการสวมเลขที่ Form ของผู้ส่งออกรายอื่น หรือมีการกำหนดเลขที่ Form ขึ้นเอง
ทั้งนี้มีการใช้หนังสือรับรองฯ กับสินค้า 2 รายการ ได้แก่
1 สินค้าทุเรียน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองฯ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Form E) สำหรับการส่งออกไปประเทศจีน
2 สินค้าล้ออัลลอย (Alloy Wheel) ซึ่งเป็นหนังสือรับรองฯ Form CO ทั่วไป สำหรับการส่งออกไปสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างไรก็ดีจากทั้งสองกรณีดังกล่าว คต. ได้แจ้งตอบให้ศุลกากรปลายทางทั้งสองประเทศทราบแล้ว ว่าเป็นหนังสือรับรองฯ ที่ไม่ได้ออกโดยกรมฯ และขอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการกับผู้ปลอมแปลงหนังสือรับรองฯ ต่อไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำเอกสารหนังสือรับรองฯ ปลอมไปใช้ในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ซึ่งจะทำให้ศุลกากรปลายทางขาดความเชื่อมั่น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมทางการค้าระหว่างประเทศของไทย คต. จึงกำหนดมาตรการเชิงรุก โดยการจัดทำระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ SMART CO ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน QR Code และมีการลงลายน้ำ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งจัดทำแผนการพบปะหารือหน่วยงานศุลกากรจีน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ของจีนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันและเอาผิดกับผู้ดำเนินการปลอมแปลงเอกสารตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง