posttoday

นายกฯ สั่ง คลัง หาแนวทางลดภาษีดีเซล อุ้มน้ำมันแพงอีก 2 เดือน

14 มิถุนายน 2566

นายกฯ สั่งคลัง ศึกษาความเป็นไปได้ต่ออายุลดภาษีดีเซลอีก 2 เดือน ช่วงรอยต่อรอรัฐบาลใหม่ หลังมาตรการหมดอายุ 20 ก.ค.นี้ ด้านคลังเร่งศึกษาผลกระทบรายได้จาการลดภาษี 5 บาท พลังงาน ชี้หากไม่ต่ออายุภาษี ต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการลดราคา ชี้สถานะดีขึ้นติดลบ 6.3 หมื่นล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 มิ.ย.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

“นายกรัฐมนตรี ได้ฝากเรื่องนี้กับกระทรวงการคลังไปดูว่าเป็นยังไง ส่วนการจะอนุมัติต่อหรือไม่นั้น ก็คงต้องรอข้อสรุปและถ้าต่ออายุก็ต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พิจารณาตามกฎหมายก่อน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
 

 

สำหรับมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรนั้น ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง พร้อมหารือกับกระทรวงพลังงาน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ไปหาแนวทางร่วมกันเพื่อรองรับกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้

 

อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่า ยังสามารถใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าผ่านการการบริหารสภาพคล่อง เพื่อมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลแทนได้

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตไปหาแนวทางการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อเป็นระยะเวลาอีก 2 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน หลังจากที่มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยกรมสรรพสามิตจะได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะต้องประเมินถึงผลกระทบในเรื่องของรายได้รัฐบาลที่จะหายไปด้วย

 

ทั้งนี้ การลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าดังกล่าวประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยมาตรการลดภาษีดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณนี้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากน้ำมันดีเซลไปประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

 

“กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันหลายประเภทและหลายครั้งมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซล เนื่องจากถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้เป็นต้นทุนในภาคการผลิตสินค้า ไฟฟ้า และภาคการขนส่งในทุกอุตสาหกรรมซึ่งการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรนั้น จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน”แหล่งข่าว กล่าว

 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีมาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ บาลรวม 158,000 ล้านบาท ดังนี้

1.วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท

2.วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

3.วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

4.วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

5.วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

6.วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท

7.วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง โดยปัจจุบันมีสถานะติดลบ 63,376 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 17,127 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 46,249 ล้านบาท จากในช่วงที่ผ่านมที่เคยติดลบสูงถึง 120,000 ล้านบาท ในขณะที่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากการจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซลในปัจจุบันลิตรละ 4.20 บาท

 

สำหรับ มาตรการลดลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 ซึ่งกระทรวงการคลังลดภาษีดีเซลมาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 ถึงปัจจุบันทำให้รัฐเสียรายได้ 158,000 ล้านบาท ถึงแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่รัฐบาลรักษาการยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพของประชาชนจึงให้กระทรวงการคลังศึกษาการต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล