นโยบายธนาคารในไทยไปทางไหน บนเส้นทางหลากหลาย เท่าเทียม และมีส่วนร่วม
นโยบายธนาคารในเมืองไทย มุ่งไปทางไหนและมาไกลเพียงใด บนเส้นสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วม ทั้งกับทีมงานภายในและลูกค้า ผ่านมุมมองรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
แรงขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม Equality) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) หรือ DEI เป็นอีกโจทย์สำคัญขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเงินธนาคาร ที่เริ่มคืบหน้าและชัดเจนต่อนโยบายธนาคารในเรื่องนี้ ทั้งในส่วนการบริหารจัดการภายในองค์กรเอง และการดูแลลูกค้า เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ทาง Post Today จึงสรุปมุมมองและแนวทางของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยบางส่วนมานำเสนอในครั้งนี้ เพื่อส่งเสียงสะท้อนออกไปในวงกว้างว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ควรดูแลผู้คนที่่หลายหลายและเปิดโอกาสให้ได้มีส่วนร่วมในองค์กรกันอย่างเท่าเทียม ด้วยเพราะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่เกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจด้วยเช่นกัน
กรุงศรีขับเคลื่อนด้วย Innovation Culture
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา มี Inclusiveness หรือการยอมรับความหลากหลายอย่างเท่าเทียมเป็นหนึ่งใน Employee Value Proposition ซึ่งมีนัยมากกว่าเรื่องสถานภาพทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ และระดับการศึกษา แต่เป็นการเปิดกว้างในแง่ของมุมมอง และความคิดเห็น รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานภายในองค์กร
อาทิ การมองหา Talents ที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเรื่องอื่น เพราะธนาคารเชื่อว่าการมีบุคลากรที่มีความสามารถ และความคิดเห็นที่หลากหลาย จะผลักดันให้องค์กรเดินไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จได้
โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิด Innovation Culture ที่ส่งเสริมให้พนักงานเสนอความคิดเห็น นวัตกรรม โครงการใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ พัฒนาองค์กรไปสู่อนาคต โดยอิงจากหนึ่งใน Krungsri Core Values ที่ว่า “Making innovative changes” หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมองว่าพนักงานสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มต้นจากตัวพนักงานเองก่อน
ในมุมของการบริหารจัดการภายในองค์กร กรุงศรีเริ่มตั้งแต่การรับสมัครงาน ที่จะไม่ระบุเพศและอายุในคุณสมบัติในประกาศรับสมัคร เพราะต้องการพิจารณาผู้สมัครในแง่ของคุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์มากกว่า รวมถึงการเติบโตทางสายอาชีพของพนักงานในองค์กร ซึ่งพิจารณาจากความสามารถเป็นหลัก ดังนั้นผู้บริหารของธนาคาร จึงมาจากคนเก่งในหลาย ๆ ช่วงอายุ ทุกเพศและทุกวัย
รวมถึงด้วยการที่กรุงศรีมีการขยายธุรกิจใน ASEAN ทำให้พนักงานมีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติที่ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยการนำ Inclusiveness และ Innovation Culture เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งนั้น จึงช่วยให้ความหลากหลายรวมเป็นหนึ่งและมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันได้
ดังนั้น เมื่อพนักงานหลายระดับนำเสนอโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระดับฝ่ายงานเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น หรือจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง ได้ถูกพิจารณาและสนับสนุนโดยผู้บริหาร ซึ่งธนาคารยืนยันว่าพิสูจน์ได้รางวัลเรื่องนวัตกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ กรุงศรียังมีกิจกรรมสร้างความผูกพันของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ และความสนใจของพนักงานแต่ละคนที่อาจเหมือนและแตกต่างกันออกไป โดยธนาคารมองว่าการยอมรับความหลากหลาย และแตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานภายในที่แข็งแกร่งและนำมาสู่ความก้าวหน้าขององค์กรได้
เช่นเดียวกับที่ กรุงศรีนำเสนอผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้านคู่เพื่อน กู้บ้านด้วยกัน ใช้ชีวิตที่พิเศษด้วยกัน” หรือผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเปิดโอกาสให้ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน สามารถขอสินเชื่อกับเพื่อน เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ มือสอง จากทุกโครงการอสังหาริมทรัพย์
โดยผู้ขอกู้สินเชื่อบ้านร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้ แต่จะพิจารณาจากรายได้ ศักยภาพในการชำระคืน และเครดิตของผู้กู้ทั้ง 2 ท่าน รวมถึงการตรวจสอบเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วม
ทีทีบีมองความหลากหลายสำคัญต่อการเติบโต
สำหรับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี นั้น ตั้งแต่ในปี 2562 ธนาคารออกแถลงการณ์เรื่องบริหารความหลากหลายและการมีส่วนร่วม โดยได้รับอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งต้องการให้ความสำคัญของการมีพนักงานที่มีความหลากหลาย การมีส่วนร่วม ตลอดถึงการให้คุณค่ากับความแตกต่างของแต่ละบุคคล เพราะเชื่อว่าความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวทางธุรกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นอกจากนี้ทีทีบี ยังยึดเรื่องการมีพนักงานที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างโอกาสในการจ้างงานที่เท่าเทียมกันแก่พนักงานทุกคนทุกระดับทั้งเพศหญิงและเพศชาย รวมถึงตั้งใจส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในกลุ่มพนักงาน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารของธนาคารให้มีมากกว่าร้อยล่ะ 40 และไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การประกาศคำแถลงการณ์เรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมนั้น ธนาคารได้จัดทำรายงานข้อมูลด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมทั้งปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกกลุ่มและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
ในปี 2565 ธนาคารมีสัดส่วนเพศหญิงในคณะกรรมการบริษัทและในระดับผู้บริหารเพิ่มขึ้นจากปี 2564 นอกจากนี้ สัดส่วนเพศหญิงในระดับผู้บริหารระดับสูงก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 41.7% สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 40 เพื่อมุ่งส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่่สนับสนุนการมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าร่วมดัชนีความเท่าเทียมทางเพศของทาง Bloomberg (Bloomberg’s Gender-Equality Index - GEI) ติดต่อกัน 2 ปี (2565-2566) ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสองธนาคารไทยที่ได้เข้าร่วมดัชนีดังกล่าวด้วย
ในแง่การดูแลลูกค้า ทีทีบี มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เท่าเทียมและเข้าถึงง่ายสำหรับลูกค้าทุกราย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน พร้มอตอกย้ำให้เกิดความเท่าเทียมกันและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยทุกคน
โดยสอดคล้องกับพันธกิจที่จะยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของลูกค้าเพศเดียวกันให้สามารถเข้าถึงการบริการ/ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การเปิดบัญชีคู่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อธุรกิจ หรือ SME มาลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน การทำประกันชีวิตและสุขภาพร่วมกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทีทีบีให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเปิดรับลูกค้าเพศทางเลือก หรือ LGBTQ+ ให้สามารถขอสินเชื่อบ้าน ในลักษณะการกู้ร่วมได้เช่นกัน ซึ่งเริ่มเปิดให้ยื่นกู้ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ขณะนี้มีลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเดี่ยวเป็นหลัก มากกว่าคอนโด และเชื่อว่ายังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขปล่อยสินเชื่อบ้านให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ ของทีทีบี ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ให้เพศเดียวกันสามารถกู้ร่วมกันได้ โดยจะต้องมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์เพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริง หรือเอกสารยืนยันว่าอาศัยอยู่ร่วมกันจริง เช่น ทะเบียนบ้านที่มีชื่อทั้งสองคน (ถ้ามี) หรือเอกสารในการกู้ซื้อทรัพย์สินร่วมกัน เช่น รถยนต์ (ถ้ามี) หรือเอกสารการทำธุรกิจร่วมกัน (ถ้ามี)
หลากหลายสร้างแนวคิดใหม่ที่ KBANK
ธนาคารกสิกรไทยดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะในเรื่องเพศ อายุ รูปร่าง เชื้อชาติ การศึกษา วัฒนธรรม คนเมือง / คนต่างจังหวัด เป็นต้น ทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันตลอดกระบวนการ
ด้วยมุมมองที่ว่าความหลากหลายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ และในการตัดสินใจอย่างรอบด้านครบถ้วน เพราะธนาคารได้รับความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนที่หลากหลายในแต่ละระดับ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความสามารถในการทำงาน มีแรงจูงใจและทำงานอย่างมีความสุข พนักงานมีความเข้าใจความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
ในแง่การนำเสนอแนวคิดผ่านทางการบริหารจัดการภายในองค์กรนั้น KBANK มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในส่วนการบริหารงานบุคคล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การสรรหา การว่าจ้าง การได้รับอนุญาตเพื่อทำงานในประเทศไทย รวมทั้งเงื่อนไขการทำงานและสวัสดิการต่าง ๆ
โดยธนาคารกสิกรไทยเน้นในเรื่องความเสมอภาคในสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพนักงานทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร รวมไปถึงการวัดความสำเร็จ นั่นคือไม่ได้ดูที่สัดส่วนตัวเลข ว่ามีเพศไหนจำนวนเท่าไร หรือ มีคนลักษณะไหนเป็นจำนวนเท่าไร
แต่เป็นการปลูกฝังวัฒธรรมองค์กร และ ค่านิยมที่ยอมรับความแตกต่าง และมองที่การวัดผลงานตาม Performance อย่างเท่าเทียมเป็นหลัก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals –SDGs) ข้อ 5 Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติในการบริหารความแตกต่างหลากหลาย โดยไม่ยอมรับการล่วงละเมิดหรือการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) รวมทั้งการละเมิดคุกคามทางกายและวาจา และความเสียหายทางจิตวิทยาทุกรูปแบบ โดยได้จัดให้การฝึกอบรมเรื่องการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดในระหว่างที่มีการทบทวนเรื่องจรรยาบรรณประจำปี
รวมถึง ยังจัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนภายในของธนาคารผ่านช่องทางสายด่วนพนักงานและอีเมล เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์ข้อกล่าวหา เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง จะมีการพูดคุยเพื่อให้พนักงานปรับปรุงความประพฤติ และดำเนินการลงโทษทางวินัยตามระเบียบของธนาคารต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก (GEI) ปี 2566 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ได้รับการคัดเลือกติดต่อกัน 5 ปีติดต่อกันด้วย
พนักงานของ SCB ยึดหลักสิทธิมนุษยชน
การให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมกันและความหลากหลายทางเพศ ได้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนระบุไว้ในจรรยาบรรณธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจของธนาคาร อย่างเปิดเผย โดยเนื้อหาครอบคลุมถึงการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรมและให้เกียรติ การไม่เลือกปฏิบัติโดยอ้างเหตุความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ อายุ ศาสนา หรือความพิการ
ทั้งนี้ ธนาคารจะดูแลไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการคุกคาม โดยการแสดงออกทางคำพูดหรือกิริยาท่าทางที่อาจกระทบต่อเกียรติหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และจะยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักปฏิบัติร่วมกับพนักงานทุกคน โดยจะสื่อสารให้พนักงานเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงาน
ในฝั่งการบริหารงานทรัพยากรบุคคลของธนาคาร ก็ได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ไม่แบ่งแยก เห็นคุณค่า และยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการสรรหาบุคลากร ที่ยอมรับในความหลากหลายไม่กีดกันในแง่ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความพิการ
เช่นเดียวกับที่ ธนาคารยืนยันว่าวางนโยบายกำหนดเส้นทางการเติบโตในสายงานอย่างชัดเจนและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีแนวทางในการพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพที่ชัดเจน และมีผลตอบแทนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังให้มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบ ตามความเหมาะสมของผลกระทบและลักษณะของการกระทำความผิด และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
รวมถึง มีการพัฒนาบริการหรือผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ซึ่งเน้นออกแบบให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีการกำหนดคุณลักษณะที่จำเพาะเจาะจงสำหรับบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศให้กับลูกค้า โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศอีกด้วย
Citibank เน้นมีส่วนร่วม พร้อมจัด Reverse Mentoring
ด้านนโยบายของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยนั้น จะเน้นให้น้ำหนักเท่ากันทั้ง diversity equality และก็ inclusion โดยเฉพาะในด้านการทำงาน ที่ต้องเปิดรับในความหลากหลาย นั่นคือการที่ไม่ต้องระบุว่าใครเพศอะไร เช่นเดียวกับในแง่การมีส่วนร่วมที่ให้น้ำหนักในแง่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกันด้วย
รวมถึงภายในองค์กรยังจัดกิจกรรมที่เรียกว่าพี่เลี้ยงกลับด้าน (Reverse Mentoring) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้รับฟังพนักงานที่อาวุโสน้อยกว่าและเป็นกลุ่ม LGBTQ+ มาถ่ายทอดข้อมูล แนวคิด และประสบการณ์ที่หลากหลาย
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม DEI แต่จะเน้นเฉพาะด้านที่มีผลกระทบกับการบริหารองค์กรในเมืองไทยเป็นหลักเท่านั้น เช่น Women Network หรือกิจกรรมที่กระตุ้นพนักงานผู้หญิงให้มั่นใจและแสดงศักยภาพในตัวเองอย่างเต็มที่ Pride Network หรือกิจกรรมที่จัดให้กลุ่มคน LGBTQ+ หรือคนที่สนใจมาร่วมกันให้ข้อเสนอแนะว่าองค์กรจะให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือด้านใดได้บ้าง เป็นต้น
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มุ่งเป็นนายจ้างสำหรับ LGBT+
ด้านธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดฯ เปิดเผยว่า ตลอดปีที่ผ่านมาได้ดำเนินแผนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการกับอุปสรรคอย่างเป็นระบบและส่งผลให้มีการปรับปรุงอย่างยั่งยืนต่อนโยบายเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความหลากหลายทางเพศในองค์กร
โดยมุ่งหวังให้ธนาคารเป็นนายจ้างทางเลือกสำหรับกลุ่มสมาชิกและพันธมิตรในชุมชน LGBT+ พนักงานของธนาคารทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานทุกท่านอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม ด้วยความเคารพ และไม่เลือกปฏิบัติ – สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับเพื่อนพนักงานทุกคน
ทั้งนี้ธนาคารเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนแสดงความคิดเห็นได้โดยตลอดผ่านช่องทางที่ทางธนาคารกำหนดไว้ และทางผู้บริหารธนาคารทุกคนจะรับฟังข้อเสนอ ความคิดเห็นอย่างสม่าเสมอ เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของเพื่อนร่วมงานและดำเนินการ เพื่อปรับปรุง สนับสนุน และพัฒนานโยบายในส่วนของ Diversity & Inclusion และรวมถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจของทางธนาคาร
ในแง่การบริหารจัดการ ทางธนาคารมี Standard Chartered (SC) Pride Charter ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงในธนาคารเป็นคณะกรรมการ ซึ่งพร้อมสนับสนุนความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในองค์กร นอกจากนี้ยังมี Pride Ambassadors ในบางประเทศของกลุ่มธนาคาร ที่เป็นตัวแทนสำหรับเพื่อนร่วมงาน LGBT+ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของพวกเขา
รวมถึงธนาคารได้จัดทำการประเมินวุฒิภาวะของ LGBT+ เพื่อสร้างกรอบการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับ LGBT+ ซึ่งรวมถึงเพื่อนพนักงาน ลูกค้า และชุมชนของธนาคารด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารได้เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพ และนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร อุปการะบูตรบุญธรรม สำหรับพนักงาน ซึ่งสวัสดิการนี้ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกัน แต่ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศและพยายามที่จะปรับปรุง พัฒนาด้านอื่น ๆ ให้ครอบคลุมกลุ่มสมาชิกและพันธมิตรในชุมชน LGBT+
ถึงตรงนี้ ถือว่ากลุ่มธนาคาร ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนจำนวนมากและหลากหลาย ต่างตื่นตัวและมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่อง DEI กันไม่น้อย จึงถือเป็นทิศทางที่ดีและนำพาให้โลกธุรกิจมีสีสันสวยงามอย่างที่ควร