posttoday

"สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" ชี้ 2 แนวทาง คลังเคลียร์ปมประธานบอร์ดธปท.

26 ธันวาคม 2567

สถิตย์ ชี้หากฤษฎีกาชี้เป็นทางการ กิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติ คลังต้องเร่งประสานบอร์ดคัดเลือก เสนอรายชื่อคนใหม่ หลัง "กุลิศ" ส่อชวดด้วย ตั้งคำถามคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองไม่สามารถทำหน้าที่ประธานได้ "วิรไท-เศรษฐพุฒิ" เคยเป็นกุนซือนายกตู่ นั่งผู้ว่าธปท.ได้อย่างไร

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่ได้มีการนัดประชุมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในการพิจารณาคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการ ธปท. (ประธานบอร์ด ธปท.) ว่าเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

ทั้งนี้ หากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก็จะทำให้นายกิตติรัตน์ ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท. ดังนั้นสิ่งที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังจะทำได้ มี 2 แนวทาง คือ 1.นิ่งเฉย หรือ2.ขอเสนอรายชื่อใหม่

ปลัดคลังทำได้ 2 อย่าง คือนิ่งเฉย หรือขอเสนอชื่อคนใหม่ หากกฤษฎีกามีมติออกมาเช่นนั้นจริง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบมติอย่างเป็นทางการ ว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ตอนนี้เป็นแค่ข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากกฤษฎีกา ซึ่งกระบวนการภายหลังจากที่คลังได้รับความเห็นจากแล้ว จะต้องประสานงานกันภายในว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างไร หากนิ่งเฉย จะเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯต้องนัดประชุมเพื่อพิจารณาผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายคนถัดไป เพื่อเสนอเป็นประธานบอร์ด ธปท. ต่อไป

อย่างไรก็ดี เห็นว่า หากกฤษฎีกามีความเห็นว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติเพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับถัดไปจากฝั่งของ ธปท. ก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติด้วยเช่นกัน เพราะนายกุลิศก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับนายกิตติรัตน์เช่นกัน

นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า หากกระแสข่าวที่พูดกันเป็นเรื่องจริงว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ คือ คณะกฎหมายการเมืองการปกครอง, คณะกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน และคณะกฎหมายการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ลงความเห็นว่านายกิตติรัตน์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ไม่สามารถเป็นประธานบอร์ด ธปท.ได้นั้น ก็จะถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ที่ต่างไปจากมาตรฐานเดิมที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยกำหนดไว้

ส่วนที่มีการมองย้อนไปในอดีตว่า หากจะยึดหลักการคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ประธานบอร์ด ธปท.ได้นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นายวิรไท สันติประภพ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ได้อย่างไร เพราะทั้ง 2 คน เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้วเช่นกันนั้น นายสถิตย์ กล่าวเพียงว่า "ไม่ได้ติดตามว่า ตอนที่ตั้งนั้น อาศัยตาม พ.ร.บ.ธปท.หรือไม่ แต่ถ้าเป็นไปตาม พ.ร.บ. ธปท. ก็จะต้องใช้หลักการเดียวกัน"


ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้รับทราบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยขั้นตอนแล้ว กฤษฎีกาจะต้องส่งความเห็นกลับมาที่นายพิชัย และมองว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่ง "ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี" ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองจริง ซึ่งจะมีผลให้นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานบอร์ด ธปท.นั้น นายกุลิศ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากฝั่งของ ธปท. ก็ต้องขาดคุณสมบัติด้วยเช่นกัน เพราะเป็นที่ปรึกษาฯ อยู่ในชุดเดียวกันกับนายกิตติรัตน์ และหากผลสุดท้ายออกมาเป็นเช่นนี้ การเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกใหม่ทั้งหมด ถือเป็นความเหมาะสมที่จะต้องดำเนินการ

ยังไม่ทราบว่าผลของกฤษฎีกาว่าจะออกมาแนวทางใด แต่หากเป็นอย่างที่มีข่าว ก็ควรจะต้องเริ่มการคัดเลือกใหม่ เพราะถ้าคุณกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติ คุณกุลิศ ก็ต้องขาดคุณสมบัติเหมือนกัน เพราะนั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะเดียวกัน