สมชาย ฟันธง “พิธา” ชวดนั่งนายกฯ เชื่อ ตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทบเศรษฐกิจน้อย
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์-การเมือง ชี้โหวตกี่รอบ “พิธา” ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ เหตุไร้เสียงสว.หนุนเพิ่ม มองสวนทางจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า-ชุมนุม กระทบเศรษฐกิจไม่มาก นักลงทุนส่วนใหญ่ มองปัจจัยค่าแรง-นโยบาย มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว มากกว่าใครจะเป็นรัฐบาล
ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง กล่าวถึงกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการโหวตเลือกให้นายกรัฐมนตรี ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องยืดเยื้อออกไปอีก ว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ต้องล่าช้าแน่นอน เพราะเชื่อว่า แม้จะมีการเปิดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 หรือ 3 นายพิธา จะไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เนื่องจากนายพิธา จะไม่ได้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ถึงกึ่งหนึ่ง เท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา คือ 376 เสียง โดยรอบแรกยังขาดอยู่ 51 เสียง เพราะสว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 แม้สุดท้ายพรรคก้าวไกลจะยอมถอย แต่สว.ก็ไม่เชื่อใจ เนื่องจากการแก้ มาตราดังกล่าว เป็นสัญญาที่พรรคได้ให้ไว้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการโหวตนายกฯไม่ผ่าน จะไม่ทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะตามกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนอยู่แล้ว ซึ่งในยุคที่ผ่านมา ก็เคยมีการตั้งรัฐบาลล่าช้า แต่ไม่กระทบต่อกเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญมากนัก โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง คาดว่าจะกระทบเพียง 10-20% ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่อยากรอดูความชัดเจน
ขณะที่นักลงทุน 80-90% จะพิจารณาจากปัจจัยแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการทำธุรกิจ รวมถึงนโยบายที่เอื้อ และไม่อุปสรรค์ต่อการลงทุนโดยตรงในระยะยาว โดยไม่ได้สนใจว่า การตั้งรัฐบาลในประเทศนั้นจะใช้เวลานานแค่ไหน หรือใคร เป็นนายกฯ
สะท้อนได้จากทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังรู้ผลการเลือกตั้ง ช่วงแรกดัชนีหุ้นตกลงต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติพากันเทขาย เพราะไม่แน่ใจต่อสถานการณ์การเมืองไทย พอมาถึงจุดหนึ่ง หุ้นก็เริ่มปรับตัวขึ้น เพราะนักลงทุน ทั้งไทย และต่างประเทศ มองว่า ราคาหุ้นตกลงมากกว่าราคาที่ควรเป็นแล้ว และเมื่อที่ 13 ก.ค.66 ตลาดหุ้นก็ยังบวก ส่วนหนึ่งเพราะตลาดคาดการณ์ไว้แล้วว่า นายพิธาจะไม่ได้โหวตให้เป็นนายกฯ เช่นเดียวกับค่าเงินบาท ที่ตอนนี้ที่กลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นแล้ว ดังนั้นเรื่องการเมืองจึงเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
“ไมได้บอกว่า ไม่กระทบเศรษฐกิจเลย แต่กระทบไม่มากมายอย่างที่วิเคราะห์กันไป เพราะการเลือกตั้งนายกฯ หรือการจัดตั้งรัฐบาล ทุกประเทศเหมือนกัน คือ ต้องใช้เวลา ถ้าจะบอกว่าตั้งรัฐบาลล่าช้า แล้วเศรษฐกิจจะเจ๊ง ทุกประเทศคงเจ๊งเหมือนกันหมด คนก็พูดไปตามความรู้สึก ไม่ได้พูดบนความเข้าใจไทมไลน์ ซึ่งในยุคที่ผ่านๆมา การจัดตั้งรัฐบาลก็เคยมีความล่าช้า แต่เศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ ” ดร.สมชาย กล่าว
ส่วนผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนที่จะมากระตุ้นการลงทุนนั้น ดร.สมชายมองว่า ต่อให้ได้รัฐบาลใหม่จะมาวันนี้ ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้นทันที เพราะกว่าจะได้งบประมาณใหม่ ก็ประมาณปลายไตรมาส 1 ปี 2567 ตอนนี้รัฐบาลก็สามารถใช้งบประมาณเก่าได้ไปพลางก่อน ทั้งงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน แม้งบลงทุนมีการเบิกจ่ายไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่เบิกจ่ายหมด สามารถนำมาใช้ได้ตามกรอบที่มี
สำหรับการชุมนุมทางการเมือง จากการประเมินในขณะนี้ มองว่า สถานการณ์ยังไม่น่ากังวล จึงกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนไม่มากนัก และจากการสอบถาม นักลงทุนส่วนใหญ่มีความเข้าใจ เพราะทุกประเทศมีการชุมนุมเหมือนกัน แต่ลักษณะการชุมนุมของไทยมีความแตกต่างจากต่างประเทศ ที่มีสงครามกลางเมืองใหญ่โต เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ประเมินว่า ไม่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวปีนี้ยังขยายตัวได้ดี โดยคาดว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาไทยเดือนละ 2 ล้านคน ทั้งปี ราว 20-30 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตา สถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการยกระดับเป็นความรุนแรงหรือไม่ หากเกิดสถานการณ์มีความรุนแรง ก็จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ทั้งนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เชื่อว่าสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะยืดเยื้อยาวนาน แต่กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนรองรับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าไว้อยู่แล้ว เช่น การเบิกจ่ายล่วงหน้าในส่วนที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเบิกจ่ายล่าช้าไม่เกิน 6 เดือน หรือ จนถึงสิ้นปี พร้อมเตรียมแนวทางการบริหาร รวมถึงแผนปฏิรูปภาษี ไว้รอรัฐบาลใหม่ เมื่อเข้ามาก็สามารถทำงานต่อได้ทันที จึงไม่ต้องกังวลในทุกสถานการณ์ เหมือนการชุมนุม ช่วงปี 2557 งบประมาณก็เว้นว่างไปนาน สุดท้ายก็ผ่านไปได้