ดีลเอไอเอส-3บีบี คาดจบก่อนสิ้นปีนี้ ภาคประชาชนไร้เสียงค้าน

25 กรกฎาคม 2566

เวทีโฟกัส กรุ๊ป ดีล เอไอเอส -3 บีบี ภาคประชาชนฯ ไร้เสียงค้าน ด้าน101 PUB ชี้ผลกระทบการกระจุกตัวเกิดวงจำกัด ยังเอื้อต่อการแข่งขัน เหตุมีผู้ให้บริการรายย่อยจำนวนมาก คาดจบไม่เกินสิ้นปีนี้ แน่นอน

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ทริปเปิล ทรี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3 บีบี ด้านผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า วันที่ 25 ก.ค.2566 คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ในการนำข้อมูลไปประกอบกับผลการศึกษาของอนุฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง 

ทั้งนี้จะนำผลการศึกษาที่ได้ไปรวมกับผลการศึกษาของอนุฯอีก 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2566 จากนั้นจะนำผลการศึกษาทุกด้านให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บรรจุเป็นวาระ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.พิจารณาลงมติต่อไป แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด

ทั้งนี้ หากผลการศึกษาของอนุฯด้านใดยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่สามารถจัดโพกัส กรุ๊ปได้ตาม ที่ควรจะมี ก็สามารถเสนอขยายระยะเวลาต่อบอร์ด กสทช. จากกำหนดเดิมภายในระยะ 90 วัน ออกไปอีกได้ ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของบอร์ด กสทช. ว่าจะให้ขยายออกไปอีกกี่วัน เช่น 30 วัน หรือ 60 วัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากระบวนการต่างๆ ตลอดจนการลงมติของบอร์ด กสทช.ว่าจะอนุญาตให้รวมธุรกิจหรือไม่ จะเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอนุฯ ได้มีการเชิญผู้ประกอบการทุกบริษัท เข้ามาให้ข้อมูลหมดแล้ว ทั้งในส่วนของผู้ยื่นขออนุญาต คือ เอไอเอส และ 3บีบีและผู้ประกอบการอื่นในตลาด คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่งได้ข้อมูลครบถ้วน ขณะที่ผลการศึกษาของสำนักงาน กสทช.ที่จัดทำก็เสร็จสิ้นแล้ว 

หลังจากนี้จะต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาอิสระของเอกชน เพื่อศึกษาเรื่องนี้อีก เช่นเดียวกับกรณีควบรวม ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หรือไม่นั้น เป็นเรื่องคณะกรรมการกสทช. จะพิจารณา หากเห็นว่าผลการศึกษาต่างๆ ที่จัดทำและเสนอขึ้นไปยังไม่ครบถ้วนที่จะพิจารณาลงมติ ก็สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระให้ศึกษาเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ ในเวทีโฟกัส กรุ๊ป ตัวแทนของสำนักงานกสทช. กล่าวว่า หากพิจารณาประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเอไอเอสที่ระบุ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีจำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน  99.87 % มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19.00 % ของจำนวนหน่วยลทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาทรวมสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

ดังนั้น ดีลนี้เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจเป็นไปตามข้อ 3 (3) ในระเบียบของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า “การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการ

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ได้รวบรวมข้อมูลภายหลังจากเกิดการควบรวมธุรกิจโดยใช้การวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) หรือการคำนวณค่าการกระจุกตัวเพื่อวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในตลาดของธุรกิจ โดยจะเกิดผลกระทบ 2 ลักษณะ คือ

1.ตลาดค้าปลีกบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband Internet) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 2,716 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,624 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 908 เพิ่มขึ้น 33.43%  

2.ตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์ (Wholesale Broadband Access) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,893 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 5,167 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 1,274 เพิ่มขึ้น 32.72%

ทั้ง 2 ตลาดส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดรายใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการลงทุนสูง .และอำนาจต่อรองของผู้ขอใช้โครงข่ายโทรคมนาคมอยู่ระดับต่ำจะเป็นอุปสรรคต่อผู้เล่นรายใหม่ หลังควบรวมเอไอเอส ครอบครองโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ของตลาด ซึ่งตลาดเกิดการกระจุกตัวและการแข่งขันต่ำลง และอำนาจการต่อรองของผู้ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมต่ำลง

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานตลาดค้าปลีกบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ และตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มบริษัทเอไอเอส มีโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาค

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยข้อกังวลคือจำนวนผู้แข่งขันในตลาดจะเหลือเพียง 3 ราย เป็นเหตุให้การแข่งขันในตลาดลดลง และอาจไม่เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพการให้บริการ และอาจให้บริการในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการมีน้อยราย

ขณะเดียวกัน ด้านความคิดเห็นและข้อกังวลเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ สำหรับผู้ให้บริการจะมีผลกระทบเชิงบวกจากการรวมธุรกิจ โดยผู้ให้บริการในส่วนของ 3บีบีสามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเติมจากเดิม และให้บริการแบบ FMC (Fixed mobile convergence) รวมถึงสถานะการเงินจะแข็งแรงขึ้น และสามารถชำระหนี้กับกองทุนรวม JASIF

ด้านเอไอเอส มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การเชื่อมต่อไร้สายแบบตาข่ายใยแมงมุม (Mesh Wifi) และเทคโนโลยีการลากสาย fiber optic นอกจากนี้ การรวมธุรกิจจะเกิดโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะ โดยเฉพาะสายสื่อสารร่วมกันลดปัญหาการลากสายซ้ำซ้อน

สำหรับประเด็นอื่นๆ การควบรวมจะทำให้ตัวเลือกผู้บริโภคลดลง แต่ผลกระทบไม่ได้อยู่ระดับประเทศ ซึ่งจะอยู่ระดับเขตเมืองเท่านั้น ขณะที่การรวมกันเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีมูลค่าของบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งเล็กกว่า 7-8 เท่าของผู้ให้บริการรายอื่น จึงทำให้ไม่เกิดเกิดการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้ขอใบอนุญาตรายใหม่

ด้านนายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตประจำที่มีผู้เล่นอยู่ราวๆ 4 รายใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส 14.3% เอ็นที 15.9% ทรู 37.3% 3บีบี 29.4% อื่น 3% ดังนั้น เมื่อเอไอเอส และ3บีบีรวมธุรกิจกัน จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.7% ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของตลาดทันที

ส่งผลให้ดัชนีการกระจุกตัว HHI จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,724 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 3,562 จุด ซึ่งในส่วนตัวมองว่าหลังจากที่เอไอเอส ไฟเบอร์เข้าสู่ตลาดในปี 2559 ทำให้ดัชนีกระจุกตัวในตลาดนี้ลดลงเรื่อยๆมาตลอดน้อยลงๆมีการให้บริการที่สะท้อนต้นทุนเกิดมากขึ้น 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดควรแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ตลาดได้แก่ตลาดในพื้นที่เมืองและตลาดในพื้นที่ชนบท โดยตลาดในพื้นที่เมืองมีความหนาแน่นสูง ลงทุนโครงข่ายคุ้มค่า คู่แข่งมีประสิทธิภาพทั้งเล็กย่อย ส่วนในพื้นที่ชนบท มีความแน่นต่ำ ลงทุนแพง แต่ข้อดีคือตลาดยังไม่อิ่มตัว ซึ่งเอไอเอสกำลังเข้าตลาดนี้ ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุที่เอไอเอสเข้ารวมธุรกิจกับ 3บีบี ซึ่งมีความแข็งแกร่งในตลาดนี้

อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวมองว่าผลกระทบการกระจุกตัว อาจจะเกิดในวงจำกัด ไม่กระทบในวงกว้าง ตลาดยังพอเอื้อให้เกิดการแข่งขันอยู่ เพราะมีผู้ให้บริการรายย่อยเยอะ แต่หากมองในกรณีเลวร้ายการรวมธุรกิจดังกล่าว จะดันให้ค่าบริการแพงขึ้น 9.5%-22.9% ซึ่งความแพงขึ้นอาจมองได้หลายทาง ทั้งได้บริการขายพ่วงลดลง ได้ความเร็วสปีดลดลง

การรวมเอไอเอสและ 3บีบี ต้องดูในประเด็น Fixed-Mobile Convergence จะเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายให้กับการควบรวมเพราะทรูและเอไอเอสเมื่อรวมกับ 3บีบีจะพ่วงบริการมือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน และคอนเทนต์ซึ่งตลาดนี้จะเหลือผู้เล่น 2 ค่ายใหญ่เท่านั้น ตัดเอาเอ็นทีออกไปเลยเพราะเอ็นทีไม่มีบริการที่ครบวงจร ซึ่งหากเกิดการให้บริการพ่วงแบบลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าสู่ระบบนิเวศของตน

ทำให้ ลูกค้าเลือกใช้บริการเพิ่มขึ้นสู้ให้บริการที่ไม่มีบริการพ่วงที่ดีซึ่งหมายถึงเอ็นทีและรายย่อยแข่งได้ยากลูกค้ามีต้นทุนในการย้ายค่ายสูงขึ้นทำให้ตลาดโทรคมนาคมทั้งหมดอาจเหลือผู้ให้บริการรายหลักเพียง 2 รายทั้งประเทศซึ่งทรูเองมีสิทธิในการขยายบริการอินเทอร์เน็ตบ้านและคอนเทนท์ให้ลูกค้าดีแทคได้ ขณะที่เอไอเอสขยายพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพิ่มบริการมือถือให้ลูกค้า 3บีบีได้ด้วย

สำหรับบรรยากาศในการในการรับฟังในวันดังกล่าวมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 100 คน โดยมีการลงชื่อขอแสดงความเห็นราว 20 คน ซึ่งระบุไปในทางเดียวกันว่า เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจดังกล่าวเพราะจะทำให้มีบริการที่เข้าถึงและได้รับบริการที่ครบถ้วนมากขึ้น อีกทั้ง มองว่าลดการขยายโครงข่ายในพื้นที่เดียวกันไม่ซ้ำซ้อนด้านทรัพยากร และช่วยเพิ่มศูนย์บริการให้มากขึ้นได้

Thailand Web Stat