posttoday

กสทช.-สวทช.ต่อยอดสร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

04 สิงหาคม 2566

ในโลกที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ประชากรทุกคนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เท่าเทียมกัน ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส กสทช.และสวทช.พร้อมต่อยอดสร้างนวัตกรรมสำหรับกลุ่มคนดังกล่าวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

ต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส มากขึ้น หากเราไม่มีนวัตกรรมมาช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

การที่ตนเอง คือ ผู้พิการทางสายตา ได้เข้ามาเป็นกรรมการกสทช. ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ดังนั้นกสทช.ในฐานะที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้การเข้าถึงเทคโนโลยีสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงมีการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมสำหรับผู้พิการอย่างต่อเนื่อง และจะต่อยอดให้มีเพิ่มมากขึ้น 

กสทช.-สวทช.ต่อยอดสร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล กสทช.-สวทช.ต่อยอดสร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

ที่ผ่านมา กสทช.ได้ร่วมทำงานกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสนับสนุนงบประมาณ จัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินและคนพิการทางการพูดสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ปัจจุบันมีตู้ TTRS ให้บริการตามสถานที่ต่างๆอยู่ 180 ตู้

การที่เราทำให้ผู้พิการสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะค่อยๆลดลง

ต่อพงศ์ เล่าว่า ปีนี้ประเทศไทยมีการผลักดันให้ทุกคนมีดิจิทัล ไอดี เพื่อใช้ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชนด้วยการสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานนั้น กสทช.ก็จะเร่งหาแพลตฟอร์มในการทำดิจิทัลไอดีสำหรับผู้พิการให้ได้รับสิทธิดังกล่าวในการเข้าสู่สังคมดิจิทัลไปพร้อมกับคนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารายชื่อตกหล่น

ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. ในการจัดให้มีศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินและคนพิการทางการพูดสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปผ่านโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบบริการคำบรรยายแทนเสียง นวัตกรรมที่ช่วยให้คนพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการได้ยิน สามารถเข้าถึงเนื้อหาของข่าว งานประชุม วิชาการ และการเรียนการสอนได้ เพื่อช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นเสียงพูดได้ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแทนการฟังเสียง

บริการคำบรรยายแทนเสียงแบบทันต่อเวลา
บริการคำบรรยายแทนเสียงเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ที่พร่องทางการได้ยินและผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการได้ยิน เข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการเรียนการสอน การประชุมสัมมนา และรายการโทรทัศน์ ได้ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแทนการฟังเสียง ระบบบริการคำบรรยายแทนเสียงสำหรับรายการสด ต้องอาศัยเทคโนโลยีถอดความแบบเวลาจริง เพื่อให้แสดงผลข้อความได้ทันต่อเวลา คือภายในระยะเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากที่ผู้พูดเริ่มพูด เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินสามารถติดตามเนื้อหาได้ทัน นอกจากนี้ ข้อความที่ได้จากการถอดความต้องมีความถูกต้องมากกว่า 90% เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วน

กสทช.-สวทช.ต่อยอดสร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

ระบบบริการคำบรรยายแทนเสียงแบบทันต่อเวลาที่พัฒนาขึ้น รองรับเทคนิคการถอดความได้ 3 วิธี คือ การแบ่งพิมพ์ การพูดทวน และระบบรู้จำเสียงพูด เพื่อให้ปรับเปลี่ยนเทคนิคการถอดความให้เหมาะสมกับลักษณะของเสียงพูดที่ต้องถอดความได้

ทั้งนี้ สวทช. ได้ให้บริการคำบรรยายแทนเสียงแบบทันต่อเวลา โดยศูนย์บริการคำบรรยายแทนเสียง ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 โดยให้บริการคำบรรยายแทนเสียงกับสถานศึกษาที่มีนักเรียนหูหนวกเรียนร่วม 3 แห่ง และการประชุมสัมมนาต่าง ๆ อีกหลายครั้ง สำหรับสถานีโทรทัศน์ ระบบที่พัฒนาขึ้นได้ถูกนำไปใช้ให้บริการคำบรรยายแทนเสียงสำหรับการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส การแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 โดยศบค. ซึ่งเป็นการออกอากาศได้ครบทุกโครงข่าย (MUX)

ระบบตรวจสอบเว็บไซต์

ระบบนี้ช่วยตรวจสอบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโชน์ได้อัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามมาตรฐานของ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ขององค์กร W3C และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมข้อกำหนดการทำให้เนื้อหาเว็บสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ มาตรฐานเลขที่ มอก. 2565-2555 ช่วยให้ผู้ตรวจสอบทราบข้อผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

แป้นพิมพ์แบบปรับได้ 

แป้นพิมพ์แบบปรับได้เป็นอุปกรณ์สื่อความหมายทดแทน (Augmentative and alternative communication: AAC) ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวและ/หรือการพูดซึ่งมีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวที่สามารถขยับมือและแขนได้แบบจำกัดสำหรับใช้ในการพิมพ์เพื่อสื่อสาร ซึ่งระบบสื่อความหมายทดแทนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นแบบตัวอักษรหรือไอคอนอยู่ในตำแหน่งที่ตายตัวของตามที่กำหนดของแต่ละประเภทแป้นพิมพ์ ซึ่งมีโอกาสที่ตัวที่ผู้ใช้ต้องการกดอยู่ในตำแหน่งที่ไกลกันทำให้ผู้ใช้มีมีการใช้ลำบากด้วยข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว หรืออาจจะกดได้แต่ใช้เวลานาน 

กสทช.-สวทช.ต่อยอดสร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาคีย์บอร์ดแบบปรับเปลี่ยนได้ที่มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่ตามประเภทตัวอักษรแต่ละกลุ่มพื้นที่ของตัวอักษรมีระบบคาดคะเนอักษร ที่ทำนายโอกาสอักษรที่จะกดในลำดับถัดไปให้อยู่ในบริเวณที่ใกล้จุดศูนย์กลางแป้นพิมพ์เรียงตามลำดับโอกาสการจะเกิด ส่วนอักษรที่มีโอกาสเกิดถัดไปน้อยกว่าจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแป้นพิมพ์มากกว่า

เพื่อช่วยลดการเคลื่อนย้ายมือในขณะพิมพ์ รวมทั้งมีระบบทำนายคำ ที่จะช่วยทำนายรายการคำที่คาดว่ากำลังพิมพ์ ซึ่งแป้นพิมพ์แบบปรับได้นี้จะช่วยให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวไม่ต้องขยับมือมากและจะช่วยลดการล้าจากการการเคลื่อนย้ายมือ

แพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์

แพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ที่เข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้าสำหรับนักเรียนพิการทุกประเภท พัฒนาตามมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ตามมาตรฐานของ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ขององค์กรW3C และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมข้อกำหนดการทำให้เนื้อหาเว็บสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ มาตรฐานเลขที่ มอก. 2565-2555

เพื่อให้นักเรียนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้จัดทำสื่อดิจิทัลที่เข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้าสำหรับนักเรียนพิการทุกประเภทที่เพิ่มเติม ได้แก่  1.ล่ามภาษามือ 2. คำบรรยายแทนเสียง และ 3. เสียงบรรยายภาพ 

แพลตฟอร์มดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ระบบบริหารจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่เข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้าสำหรับนักเรียนพิการทุกประเภท 2.คลังสื่อดิจิทัลและซอฟต์แวร์สำหรับนักเรียนพิการทุกประเภท และ 3.สื่อดิจิทัลสำหรับนักเรียนพิการ

จัดงานประชุมนานาชาติต่อยอดนวัตกรรม

จากความร่วมมือด้วยดีตลอดมา กสทช.และสวทช.จึงร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง วิศวกรรมพื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16 หรือ International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology: i-CREATe 2023 ระหว่างวันที่ 8-11 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก 

รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล รูปแบบของงานมีทั้งการแสดงปาฐกถา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การนำเสนอบทความวิชาการ การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ การเยี่ยมชมหน่วยงานด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความ

ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง วิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16 (i-CREATe 2023) สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ภารกิจด้านการสร้างความตระหนักและเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ การพัฒนานวัตกรรมและการจัดให้มีบริการที่ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

รวมถึงมีการบรรยายและเสวนาในหัวข้อ Digital Inclusion : Digital ID และ Who Benefits from Digital Assistive Technology? และในปีพ.ศ. 2567 ประเทศไทยก็จะมีงานประชุม TDAC: Thailand Digital Accessibility Content ที่จะเป็นงานประชุมที่ให้ความสำคัญกับผู้พิการเช่นกัน