posttoday

“ศุภัช ศุภชลาศัย” บอร์ดกสทช.เศรษฐศาสตร์ เดินหน้ายกระดับสำนักงานฯสู่สากล

09 ตุลาคม 2566

ทุกครั้งที่มีข่าวการรวมกิจการไม่ว่าจะเป็นดีลทรู-ดีแทค ที่เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว หรือ ดีลล่าสุดที่กำลังจะจบอย่างดีลเอไอเอส-3บีบี สายงานด้านเศรษฐศาสตร์ของกสทช.คือสายงานสำคัญในการศึกษาผลกระทบของตลาดเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของบอร์ดกสทช.ทุกครั้ง

ภายใต้งานด้านเศรษฐศาสตร์ของกสทช.นั้น “ศุภัช ศุภชลาศัย” คือ 1 ในฟันเฟืองสำคัญ ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ที่เขาบอกว่า งานด้านเศรษฐศาสตร์ คือ สายวิชาการของสำนักงานกสทช.ทำให้การทำงานของสายเศรษฐศาสตร์ไม่ได้จำกัดแค่งานด้านเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว 

“ศุภัช ” เล่าว่า หน้าที่ของเขาคือ ต้องทำงานเป็นดั่งสายวิชาการให้กับบอร์ดทุกคน ที่สำคัญคือต้องยกระดับกสทช.ให้เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถทางวิชาการในระดับสูง มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ

4 วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนด้านเศรษฐศาสตร์
การทำงานด้านเศรษฐศาสตร์นั้น ขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านแรกการกำกับดูแลการแข่งขันให้เป็น Healthy Competition ทั้งในกิจการโทรคมนาคมและบรอดแคสติ้ง เช่น การประมูลคลื่นความถี่ การวิเคราะห์ดีมานด์และซัพพลาย ในกิจการรวมไปถึงบริการใหม่ เช่น OTT เป็นต้น 

ด้านที่สอง การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ประชาชน หรือ ครัวเรือนในทุกระดับรายได้และอายุสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม

ด้านที่สาม พัฒนาการกำกับดูแลและนโยบายให้อยู่บนพื้นฐานของการมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่มีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ รอบด้าน และคำนึงถึงส่วนรวม เป็นหลัก และด้านที่สี่ การเสริมสร้างศักยภาพในทางวิชาการให้ทัดเทียมอารยะประเทศ เพื่อให้การกำกับดูแลกสทช.เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลกับหน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำทั่วโลก

“ศุภัช ศุภชลาศัย” บอร์ดกสทช.เศรษฐศาสตร์ เดินหน้ายกระดับสำนักงานฯสู่สากล

เปิดโครงสร้างสายวิชาการยกระดับสู่สากล
“ศุภัช ” กล่าวว่า ภายใน 3 เดือนหลังจากตนเองเข้ารับตำแหน่ง กสทช. ก็สามารถจัดตั้งสายงานวิชาการเสร็จในเดือน ส.ค.2565 ประกอบด้วย 5 สายงาน คือ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิชาการ กสทช.โดยมีเป้าหมายยกระดับสู่สถาบันวิจัยหลักของสำนักงานกสทช.ในลักษณะเดียวกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้กสทช.มีคลังข้อมูลของกสทช.เอง ขณะเดียวกันก็ยังคงใช้การจ้างที่ปรึกษาข้อมูลภายนอกด้วยเพื่อสร้างความสมดุลของข้อมูล 

2.สำนักวิเคราะห์นโยบาย 3.สำนักวิเคราะห์นโยบายเชิงปริมาณ 4.สำนักวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล และ สำนักวิชาการต่างประเทศ โดยโครงสร้างดังกล่าวต้องมีบุคลากรประมาณ 100 คน ในการขับเคลื่อนตามสายงานต่างๆ แต่ปัจจุบันยังมีบุคลากรเพียง 60 คน ในการทำงาน ซึ่งกสทช.ต้องทำงานอย่างเต็มที่และเดินหน้าหาบุคลากรมาเติมเต็มในส่วนต่างๆ

ที่ผ่านมาสายงานเศรษฐศาสตร์ได้มีรายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่เสร็จแล้ว 2 เรื่อง คือ รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ กรณีรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี

ส่องผลงานเด่นมิติใหม่กสทช.
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเมื่อกสทช.มีนโยบายเรื่องใด เรื่องหนึ่ง หรือ มีโครงการใดๆ ออกมา ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นตนเองจึงมีแนวคิดในการจัดทำรายงานแนวทาง Regulatory Impact Assessment (RIA) เพื่อใช้ในการศึกษาผลกระทบด้านนโยบาย ทั้งก่อนและหลังการกำกับดูแล เพื่อความรอบคอบในการออกนโยบาย ซึ่งนับว่าการทำเรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกของกสทช.ที่ไม่เคยทำมาก่อน คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2566 นี้

ขณะเดียวกับเพื่อทำให้องค์กรไปสู่องค์กรกำกับดูแลชั้นนำที่อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ผ่านมา กสทช.จึงได้ ลงนาม กับหน่วยงาน Think-tank ของประเทศ ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูล และองค์ความรู้ในมิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ

การร่วมมือกับศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ในมิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย นอกจากนี้ยังลงนามความร่วมมือกับสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลากหลายสถาบันด้วย

นอกจากนี้กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ยังได้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะทำงานเพื่อศึกษาระบบการเตือนภัยพิบัติ เพื่อจัดทำรายงานศึกษาเปรียบเทียบระบบเตือนภัยพิบัติ โดยรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษาจากต่างประเทศ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งจากข้อมูลที่ได้พบว่า โมเดลของออสเตรเลีย น่าสนใจ เนื่องจากเป็นระบบแบบแผนที่ ทำให้สามารถดูพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติได้ 

“ศุภัช ศุภชลาศัย” บอร์ดกสทช.เศรษฐศาสตร์ เดินหน้ายกระดับสำนักงานฯสู่สากล “ศุภัช ” กล่าวว่า กสทช.อยู่ระหว่างการพัฒนาแบบจําลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium Model : CGE) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุม 180 ภาคอุตสาหกรรม มากกว่าตลาดที่มีการทำเพียง 59 อุตสาหกรรมเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อใช้ในการศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแลของกสทช.ต่อทุกฝ่าย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2566 

อีกทั้งยังมีการจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมครั้งแรกของประเทศด้วย เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือและค่าบริการอินเทอร์เน็ต คาดแล้วเสร็จ ธ.ค. 2566 และพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะในเดือน ม.ค.2567

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป กิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคม และกิจการโทรทัศน์ เริ่มมีการหลอมรวมกันจนแยกไม่ออก โดยเฉพาะเมื่อมี OTT เกิดขึ้น ดังนั้น กสทช.จึงต้องดำเนินการทบทวนนิยามตลาดของบรอดแคสติ้งและโทรคมนาคมเสียใหม่ รวมถึงการทบทวนประกาศต่างๆที่มีกว่า 200 ฉบับ ทั้งปี 2549 และปี 2561 ว่าควรจะมีประกาศใดยกเลิก รวมกัน หรือ ออกประกาศใหม่ เพื่อให้การกำกับดูแลการแข่งขันสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป 

เมื่อเรามีการทบทวนนิยามตลาดเสียใหม่ จะทำให้กสทช.รู้ว่าในที่สุดแล้ว OTT เป็นสิ่งที่กสทช.ต้องกำกับหรือไม่

ต้องจับตามองต่อไป ว่า มิติใหม่งานด้านเศรษฐศาสตร์ภายใต้การทำงานของ “ศุภัช ศุภชลาศัย” จะสามารถยกระดับสำนักงานกสทช.ไปสู่องค์กรระดับสากล ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่าเป็นแค่องค์กรประมูลคลื่นความถี่ได้หรือไม่ นับเป็นความท้าทายที่จะพลิกโฉมสำนักงานกสทช.แบบเดิมได้เป็นอย่างดี