ThaiBMA ชี้ปี 68 หุ้นกู้ครบกำหนด 893,275 ล้าน จับตา High Yield เสี่ยงยืดไถ่ถอน
ThaiBMA เผยปี 68 มีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 893,275 ล้านบาท เป็นกลุ่ม Investment Grade 95% และ กลุ่ม High Yield 15% ชี้ยังได้เห็นขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้อีกในปีนี้ คาดยอดออกหุ้นกู้ปี 68 อยู่ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท หลังสหกรณ์ฯ ลดพอร์ตลงทุนตามเกณฑ์ใหม่
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2568 คาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะอยู่ที่ 850,000 –900,000 ล้านบาท ทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากปี 2567 เนื่องจากมีการออกกฎกระทรวง ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การฝากเงินหรือการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อดูแลสหกรณ์ให้มีการลงทุนอย่างระมัดระวัง และมีการกระจายความเสี่ยง
“กกฎกระทรวงกำหนดให้สหกรณ์สามารถฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ได้ไม่เกิน 1 เท่า ของทุนเรือนหุ้น จากปัจจุบันมีการลงทุนอยู่ที่ 3-5 เท่า อาจส่งผลต่อภาพรวมตลาดตราสารหนี้ปีนี้ ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ จากปัจจุบันสหกรณ์ถือครองตราสารหนี้อยู่ 520,00 ล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้” นางสาวอริยา กล่าว
ขณะที่ในปี 2568 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 893,275 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade จำนวน 762,049 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85% และหุ้นกู้ High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปถึงไม่มีเรตติ้ง จำนวน 131,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดในระยะเวลาดังกล่าว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ครบกำหนดสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน
โดยคาดว่าในปี 2568 ยังคงได้เห็นการขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไป หลังจากในปี 2567 มีหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระ รวม 37,963 ล้านบาท จากผู้ออก 17 ราย และมีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ รวม 3,172 ล้านบาท จากผู้ออก 5 ราย
สำหรับปี 2567 ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาว มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน อยู่ที่ 1,018,690 ล้านบาท โดยหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade ออกลดลง 6% เหลือ 857,749 ล้านบาท จากปี 2566 อยู่ที่ 910,547 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม High yield ออกลดลงถึง 49% เหลือ 55,392 ล้านบาท จากปี 2566 อยู่ที่ 108,143 ล้านบาท
“หุ้นกู้กลุ่ม High yield มีอัตราการออกลดลงมากกว่ากลุ่ม Investment grade สะท้อนถึงความกังวลและการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุนในปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ตามลำดับ” นางสาวอริยา กล่าว
ทั้งนี้ มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2567 อยู่ที่ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปี 2566 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ ThaiBMA ในปี 2568 ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่สำคัญเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ร่วมตลาดและผู้ลงทุน ได้แก่ การจัดทำหน้าจอคำนวณราคาตราสารหนี้แบบง่ายสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป
การจัดทำแหล่งรวมข้อมูลความรู้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญสำหรับการลงทุนตราสารหนี้ การจัดทำตัวอย่างสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพ การจัดทำค่ากลางอัตราส่วนการเงินรายอุตสาหกรรม (Industry financial ratio) ของผู้ออกตราสารหนี้ และแอปพลิเคชัน MeBond: Function plus+ ที่เพิ่มฟังก์ชันต่างๆ ตอบสนองตามความต้องการของผู้ลงทุน