เอกชน จ่อยื่นสมุดปกขาว เร่งนายกฯกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังส่อเค้าชวดโตปีละ5%
หอการค้าไทย เตรียมชงสมุดปกขาวให้ เศรษฐา เสนอมาตรการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว หลังไม่มั่นใจรัฐบาลดันเศรษฐกิจโตไทยได้ปีละ 5% ตามเป้า ชี้มาตรการแก้ปัญหาปากท้องระยะสั้น อาจไม่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ
ก่อนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาคลัง จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ทำการประชุม APEC ได้มีการแถลงถึงโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยแหล่งเงินมาจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ได้มีมาตรการระยะสั้น ทั้งการลดราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ฯลฯ
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลชุดนี้ทำงานมาเกือบ ๆ จะ 3 เดือน นอกจากดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนแล้ว ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง นั่นก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ปัจจัยที่ส่งผลกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
ปัจจัยลบ เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะ หมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่
ปัจจัยบวก อุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว มาตรการ “วีซ่าฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน มาตรการลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล
สำหรับ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐฯ เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 โครงการ e-refund เดือนธันวาคม 2566 เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 และขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประทศไทย ระบุว่า ในวันที่ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดสัมมนาหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศครั้งที่ 41 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยจะมีผู้นำองค์กรภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมมากกว่า 1,500 คน
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ตอบยืนยันที่จะเข้าร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ และรับมอบสมุดปกขาว (ข้อเสนอหอการค้าทั่วประเทศประจำปี) ในวันที่ 19 พ.ย. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญที่จะมาร่วมงานในครั้งนี้มาก โดยวันดังกล่าวทราบว่านายกรัฐมนตรีเพิ่งเดินทางกลับถึงไทยจากการเดินทางไปเข้าร่วมประชุม APEC ที่สหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวได้เกินกว่า 5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การนำเสนอสมุดปกขาวในครั้งนี้ จึงเป็นความมุ่งหวังที่หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ จะได้นำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ต่อรัฐบาลเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ผ่านข้อเสนอภาคเอกชน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
1.ข้อเสนอหอการค้าไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผ่านแนวทาง Connect Competitive และ Sustainable
2.ข้อเสนอยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าภาค 5 ภาค ที่ได้รวบรวมประเด็นเชิงพื้นที่จากหอการค้าจังหวัดและภาคเอกชนทั่วประเทศ
3.ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน (Transform) ไปสู่การแสวงหาโอกาสและรูปแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ในอนาคต 3 เรื่องหลักที่หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในขณะนี้
3 เรื่องหลักที่หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในขณะนี้
1.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานกับสถาบันทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME ขนาดเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้
2.เร่งเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆให้มากและเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสส่งออก รวมถึงขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็น Strategic Country ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย และรักษานักลงทุนเดิมอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
3.เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามประเทศผู้ผลิตสินค้าทั่วไป สู่ประเทศที่สามารถผลิตและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูด Talent ต่างชาติที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาทำงานในไทย จากปัจจุบันแรงงานไทยที่มีทักษะในระดับสูงยังมีจำนวนน้อย หากรัฐบาลสามารถอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR) และมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อให้สามารถพำนักในระยะยาวได้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ภาคเอกชนของไทย ทั้ง ส.อ.ท. และ สภาหอการค้าฯ ได้แสดงออกถึงความกังวลในการดำเนินธุรกิจ และไม่มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ปีละ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ สะท้อนผ่านข้อเรียกร้องของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งไม่ได้มีความกังวลเรื่องการกระตุ้นการจับจ่าย แต่น่าจะมีความกังวลชัดเจน ในเสถียรภาพระยะยาว
ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ปีละ 5% ตามที่รัฐบาลหวังไว้นั้น การออกมาตรการแกปัญหาค่าครองชีพและการกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้นนั้น อาจไม่เพียงพอ โดยจีดีพีของไทยในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่า ราว 17.4 ล้านล้านบาท หากปีนี้เติบโตได้ 2.8% ตามคาดการณ์ เท่ากับว่าฐานจีดีพีไทยจะอยู่ที่ 17.887 ล้านล้านบาท
การเติบโตปีละ 5% นั่นหมายความว่า ในปี 2570 จีดีพีไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 22.82 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นราว 5 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีปัจจัยบวกใด ที่นำพาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ก็ไม่แปลกที่ภาคเอกชนจะแสดงความกังวลออกมา ดังนั้น คงต้องฝากความหวังไว้ที่นายกฯ ในการเดินทางไปเยือนหลายประเทศในช่วงนี้