ดร.กฤษฎาชี้ Smart city ยังขาดการสนับสนุนที่เพียงพอจากภาครัฐ
ดร.กฤษฎา แก้ววัดปริง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทซิตี้ คลิก จำกัด ชี้ การพัฒนา Smart city ยังมีอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งจากแผนงานพัฒนา ความรู้ความเข้าใจ ไปจนการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ
ดร.กฤษฎา แก้ววัดปริง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทซิตี้ คลิก จำกัด ได้แสดงความเห็นในงานสัมมนา“POSTTODAY SMART CITY THAILAND 2024” ด้วยหัวข้อ Smart Life: ยกระดับชีวิตคนไทยในเมืองต้นแบบ Smart City ว่า อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาองค์กรส่วนท้องถิ่นคือ นโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ
ด้วยบริษัท สมาร์ทซิตี้ คลิก จำกัด ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในแผนการพัฒนา Smart city หรือ เมืองอัจฉริยะมาหลายแห่ง โดยเฉพาะกับองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างอบต. และภาคประชาชนในหลายท้องที่ จึงทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสและอุปสรรคหลายประการ
ภายใต้การลงพื้นที่ อบรมให้ความรู้ และเขียนแผนแม่บทพัฒนาเมืองมาหลายปี การจะพัฒนา Smart city ให้ดีได้ไม่ใช่เพียงการพัฒนาเมืองใหญ่แต่เมืองเล็กเองก็สำคัญ ปัจจุบันประชาชนลดความรู้สึกต่อต้านการพัฒนา เริ่มมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น จนพร้อมตอบรับนโยบายและเริ่มเรียกร้องการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เช่นเดียวกับองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการผลักดันเมืองสู่ Smart city
อย่างไรก็ตามแนวการพัฒนา Smart city ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ประการแรกคือความจูงใจของประชาชนในท้องถิ่นต่อ Smart city ยังน้อยเกินไป ทำให้ขาดความน่าดึงดูดจนอาจมีนำไปสู่ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ตรงความต้องการจนอาจทำให้การพัฒนาไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด
ปัญหาต่อมาที่ถือเป็นปัญหาสำคัญคือ การสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่เพียงพอ การพัฒนาหลายด้านมีความพร้อมแต่กลับติดขัด ทั้งจากข้อบังคับ ระเบียบ และข้อกฎหมายนานาประเภท ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนหรือโครงการที่ร่างไว้และต้องล้มเลิกไป ถ้าเป็นไปได้ควรเข้ามาจัดการตรงนี้เป็นอย่างแรก
อีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ประเด็นด้านความปลอดภัย เราทราบดีว่า Smart city จะมีการจัดเก็บและไหลเวียนข้อมูลจำนวนมหาศาล หลายภาคส่วนขาดความมั่นใจในระบบความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาบังคับควบคุมและกำหนดเกณฑ์รักษาความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐาน
นอกจากนี้ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับ Smart city คือภาครัฐเองที่ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน หลายภาคส่วนภาครัฐต้องปฏิรูปและพัฒนาระบบการใช้งาน เพิ่มความสะดวกและผลักดันให้เข้าสู่ระบบอัจฉริยะมากขึ้นเพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาโดยรวม
และที่สำคัญที่สุด เมืองฉลาด คนก็ต้องฉลาด ต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจของประชาชนให้สอดคล้องกับการพัฒนา Smart city ไม่ใช่เพียงการพัฒนาแล้วโยนเทคโนโลยีให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นการพัฒนาจะไม่เกิดหรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่อยู่ดี