posttoday

OneWeb บุกตลาดบรอดแบนด์ พร้อมเปิดบริการในไทยกลางปี

08 มกราคม 2567

ธุรกิจดาวเทียมยังไปต่อ เอ็นที กางแผนทุกน่านฟ้า เน้นทำงานร่วมพันธมิตร คาดไตรมาส2/2567 พร้อมเป็นสถานีดาวเทียม LEO ของ OneWeb จับมือ ไทยคม รุกบรอดแบนด์ เดินหน้าเปิดรับพันธมิตรใหม่บริหารดาวเทียมประจำที่ 126E ที่ประมูลมาจากกสทช.เหตุไม่ชำนาญงานต่างประเทศ

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) ของบริษัท OneWeb เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร อุบลราชธานี ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย 100% แล้ว หลังจากที่มีการติดขัดเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.)

หลังจากดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์สำหรับ OneWeb จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียม OneWeb ซึ่งมีเป้าหมายให้บริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลก และเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 1 ปี ขณะที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จะเป็นตัวแทนจำหน่ายในการหาลูกค้าบรอดแบนด์ให้กับ OneWeb 

ปัจจุบัน เอ็นที มีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมนนทบุรี จ.นนทบุรี, สถานีดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี และ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ เอ็นทียังได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ที่สถานีดาวเทียมไทยคม นนทบุรี  หลังจากที่ ไทยคม สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับภาครัฐไปก่อนหน้านี้

สำหรับสถานีเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ในบริเวณสถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ ปัจจุบัน OneWeb  ได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้ว 428 ดวง หรือ 66% ของกลุ่มดาวทั้งหมด 648 ดวงซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั่วโลก คาดว่าการปล่อยดาวเทียมที่เหลือจะเสร็จสิ้นในปีนี้

ทั้งนี้ สถานีเกตเวย์ดังกล่าวของ OneWeb ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร  เป็นหนึ่งในจำนวนกว่า 40 เกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับสถานีเกตเวย์ของ OneWeb ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยร่วมกันเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมหลายดวงในเครือข่าย รองรับภารกิจสำคัญในการสร้างระบบการติดต่อสื่อสารไร้ขีดจำกัด

ด้านนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ประธานบอร์ดเอ็นที กล่าวว่า นโยบายการทำงานของเอ็นที คือเน้นทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ ดังนั้น วงโคจร 126E ที่ประมูลมาจากกสทช.นั้น เอ็นทีไม่สามารถทำตลาดเองได้ เนื่องจากความสามารถในการให้บริการของวงโคจรดังกล่าวครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ทำให้ต้องทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งเอ็นทีไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่เหมาะสม คาดว่าจะได้รับความสนใจ เพราะเป็นวงโคจรที่มีความต้องการในตลาด

นอกจากนี้ เอ็นที ยังมีหน้าที่ในการเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมภาครัฐ จากเงื่อนไขของกสทช.ที่ผู้ชนะประมูลดาวเทียม วงโคจร 119.5E ต้องแบ่งความจุ 400 Mbps ให้ภาครัฐใช้เพื่อความมั่นคง จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบในการสร้างรายได้ของเอ็นที โดยเอ็นทีสามารถให้บริการได้ในราคาไม่แพง เนื่องจากเป็นวงโคจรที่ได้ความจุมาฟรี ไม่มีค่าใบอนุญาต