posttoday

คลัง โยนแบงก์ชาติ แก้กฎหมายโอนหนี้ FIDF

11 พฤษภาคม 2567

คลัง ชี้แก้กฎหมายโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 5.9 แสนล้านบาทให้แบงก์ชาติ สามารถทำได้ ช่วยลดหนี้สาธารณะ-เพิ่มพื้นที่การคลังได้ถึง 5.5% โยนแบงก์ชาติต้องเป็นต้นเรื่องแก้นิยามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ คาดล้างหนี้ได้หมดภายใน 9 ปี หรือปี 2575

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่ในบัญชีบริหารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ทั้งหมด เพื่อต้องการขยายพื้นที่ทางการคลังในการทำนโยบายเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับระดับหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันใกล้ระดับ 70% นั้นสามารถทำได้ โดยการแก้นิยามหนี้สาธารณะใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เนื่องจากหลักการหนี้ตัวนี้ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ เพราะปัจจุบัน แบงก์ชาติรับชำระทั้งต้น และดอกเบี้ยอยู่แล้ว  ทั้งนี้ หากโอนหนี้ของกองทุน FIDF ไปให้แบงก์ชาติ จะช่วยลดระดับหนี้สาธารณะลง หรือเพิ่มพื้นที่ทางการคลังได้ถึง 5.5% ต่อจีดีพี

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ประเมินว่า ณ สิ้นก.ย. 2575 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 65.03% โดยยังไม่รวมการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 

 

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า การที่หนี้กองทุน FIDF มาโชว์อยู่ในหนี้สาธารณะ เป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากแบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานที่เรียกเก็บอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนFIDF จากสถาบันการเงินที่อัตรา 0.46% ต่อปีจากฐานเงินฝาก ซึ่งเป็นแหล่งเงินหลักในการชำระหนี้ เพื่อชดเชยแทนการตั้งงบประมาณใช้คืนปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท และรายได้อื่นๆของ FIDF ที่มีด้วย ดังนั้น ผู้ที่ต้องแก้ไขกฎหมายจะต้องเป็นแบงก์ชาติ ไม่ใช่กระทรวงกระทรวงการคลัง

 

"หากต้องการโอนหนี้กองทุน FIDF เพื่อไม่ให้นับกองทุนฟื้นฟูเป็นหนี้สาธารณะ ต้องให้หน่วยงานต้นเรื่องคือ แบงก์ชาติเป็นผู้แก้ไขกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขกฎหมายหนี้สาธารณะทำได้ 2 ทางคือ แก้นิยาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ซึ่งจะต้องการผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กฤษฎีกา สภาฯด้วย แต่มองว่า การแก้นิยามพ.ร.ก. FIDF น่าจะทำได้ง่ายกว่า ” แหล่งข่าวกล่าว  

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะมีการโอนหนี้กองทุน FIDF ไปให้แบงก์ชาติ จะต้องโอนทรัพย์สินไปให้แบงก์ชาติด้วยหรือไม่ เช่น หุ้นที่ถือในธนาคารกรุงไทย แหล่งข่าว กล่าวว่า หากโอนหนี้สินไปอยู่ในบัญชีบริหารหนี้ของแบงก์ชาติ ก็ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดไปด้วยเช่นกัน

 

ปัจจุบัน หนี้กองทุน FIDF ที่เหลืออยู่คิดเป็นวงเงิน 590,869 ล้านบาท (ณ  เม.ย. 2567) จากยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจากบัญชี FIDF 1 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 463,275 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 265,327 ล้านบาท และ FIDF 3 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 675,030 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 325,542 ล้านบาท โดยคาดว่า จะสามารถชำระหนี้ของกองทุน FIDF ที่มียอดคงค้างในปัจจุบัน 590,869 ล้านบาท ได้หมดภายในปี 2575 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้