สศช. ปรับลดประมาณการณ์จีดีพีปี 2567 เหลือ 2-3% ค่ากลาง 2.5%
สภาพัฒน์ เผย GDP ไทยไตรมาส1 ปี 2567 ขยายตัวเพียง 1.5% พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี เหลือ 2-3% จาก 2.2-3.2% เหตุจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% ต่อปี จากปีก่อนและขยายตัวได้ 1.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา
โดย มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7% ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%
ส่งผลให้แนวโน้มทั้งปี 2567 สศช. จึงได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ทั้งปีใหม่ จากเดิม 2.2 - 3.2% เป็นขยายตัวลดลงเหลือ 2 - 3% จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น
สำหรับ รายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 ที่น่าสนใจมีดังนี้
ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการรวมชะลอลงร้อยละ 6.9 และ 2.5 ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 2.1และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.4ในไตรมาส 4/2566 เป็นผลจากอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือน โดยการใช้จ่ายฯ ในหมวดสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และหมวดบริการขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาส4/2566 เป็นผลมาจากค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 7.6 และการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ 10.7 ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงาน ขยายตัวร้อยละ 1.9
การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 4/2566 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 27.7 ประกอบด้วยการลงทุนรัฐบาลลดลงร้อยละ 46.0 การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 2.8 ขณะที่การลงทุน
ภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาส 4/2566 ปัจจัยสำคัญจากการลงทุน ส่วนด้านการก่อสร้างและการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ขยายตัวร้อยละ 5.2 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ สศช.คาดว่าจะมีการปรับตัวของภาคการส่งออกดีขึ้นโดยคาดว่าการส่งออกจะบวกได้ 2% ในปีนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งยังคงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการผลักดันการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เพิ่มขึ้น
ขณะที่การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.9% โดนเป็นการลงทุนของเอกชน 3.2% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.5% และการลงทุนภาครัฐยังคาดว่าจะลดลง 1.8%
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของการมีหนี้ครัวเรือนที่สูง ความเสี่ยงเรื่องของปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องเผชิญกับการขนส่งที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ค่าระวางเรือแพงขึ้น
ขณะที่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามที่หลายประเทศยังคงดอกเบี้ยระดับสูง ประกอบกับการมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย ซึ่งเหมือนกับในปี 2562 ที่มีปัญหาเรื่องของการกีดกันทางการค้าที่ทำให้มีสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทย
ในส่วนของประเด็นการบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ในช่วงที่เหลือของปีได้แก่
1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย
2.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอให้กับภาคเอสเอ็มอี ซึ่งต้องทำคู่กับการแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรัง ขณะที่เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลาให้กับเศรษฐกิจไทย
3.การดูแลภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีต้องดูแลเรื่องของความเสี่ยงจากอุกภัย ซึ่งควรเร่งเรื่องของประกันภัยพืชผล
4.การขับเคลื่อนการส่งออก ควบคู่กับการปรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้และส่งออกได้มากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมการพำนักของนักท่องเที่ยวในระยะยาว
5.รองรับและเฝ้าระวังความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ที่มีการทุ่มตลาดและการกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น