posttoday

“สรรพสามิต” ของบกลาง 7 พันล้าน อุดหนุนรถEV คาดปี 67 ยอดผลิตในไทยแตะ 9 หมื่นคัน

08 กรกฎาคม 2567

“สรรพสามิต” ชงของบกลาง 7 พันล้านบาท อุดหนุนรถ EV อีก 3.5 หมื่นคัน เผยค่ายรถยนต์เตรียมปักหมุดลงทุนในไทย 4 หมื่นล้านบาท เร่งถก BOI หามาตรการอุ้มรถสันดาป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างของบกลาง จากสำนักงบประมาณอีกราว 7 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) อีก 3.5 หมื่นคัน ตามมาตรการอีวี 3.0 ของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับรถอีวีที่เข้าเงื่อนไขในรอบแรกไปแล้ว ราว 4 หมื่นคัน คิดเป็นวงเงิน 7 พันล้านบาท 

 

“มาตรการอีวี 3.0 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนราว 1.4 หมื่นล้านบาท โดยรอบแรกกรมฯ จ่ายไปหมดแล้ว 4 หมื่นคัน 7 พันล้านบาท แต่ยังเหลือตกค้างอีก 3.5 หมื่นคัน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณเพื่อขอใช้งบกลางอีกราว 7 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” นายเอกนิติ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาเซ็นสัญญาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุนอีวี 3.0 ของรัฐบาล (ปี 2565-2566) แล้ว 23 บริษัท ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และได้รับเงินอุดหนุนคันละ 7 หมื่น - 1.5 แสนบาท ตามขนาดของแบตเตอรี่ โดยมีเงื่อนไขว่าค่ายรถยนต์ดังกล่าวจะต้องมีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อชดเชยการนำรถอีวีเข้ามาขาย 1 เท่าด้วย โดยจะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2568 ซึ่งขณะนี้พบว่า มีค่ายรถยต์ที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีในไทยให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

 

"ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.0 มีการนำเข้ารถอีวี ราว 1 แสนคัน ดังนั้นจะต้องผลิตชดเชยการนำเข้า 1 เท่า โดยเท่าที่ได้มีการสอบถามไปยังค่ายรถยนต์ที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว คาดว่าน่าจะผลิตได้ราว 8-9 หมื่นคัน  และตามแผน 30@30 ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวีในไทยอยู่ที่ 7.5 แสนคันนั้น เชื่อว่าจะเป็นไปได้ตามแผนแน่นอน" นายเอกนิติ กล่าว 
 

ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เข้ามาเซ็นสัญญากับกรมฯ เพื่อรับสิทธิประโยชน์แล้ว 8 ราย ในส่วนนี้จะได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์เช่นเดียวกัน แต่ในระดับที่แตกต่างจากมาตรการอีวี 3.0 โดยรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์จะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาทต่อคันในปีแรก และ 7.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4 ส่วนรถอีวีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่แรก และ 3.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 2.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4 และได้รับสิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้า CBU ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

 

ขณะนี้ จะเริ่มเห็นการผลิตรถอีวีในไทย จากค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.0 แล้ว ส่วนค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.5 นั้น จะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในไทยตั้งแต่ปี 2569-2570 ซึ่งมาตรการสนับสนุนอีวีของรัฐบาลทั้งหมดจะจบลงในปี 2570 จะไม่มีการอุดหนุน หรือการลดภาษีให้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์อีวีในไทย 

 

สำหรับ รถยนต์สันดาปนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งพิจารณาแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับค่ายรถยนต์สันดาปบ้างแล้ว หลักๆ มีการขอลดอัตราภาษี ซึ่งกรมฯ มีเงื่อนไขว่าการลดภาษีจะต้องนำมาด้วยการสร้างฐานการผลิตในประเทศ การลงทุนที่ต้องคุ้มค่า เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม และสร้างชีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์