posttoday

ไล่เส้นทางน้ำเหนือผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เตือนนนทบุรียกของมีค่า

06 ตุลาคม 2567

ไล่เส้นทางน้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ก่อนไหลบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ย 1,865 ลบ.ม./วินาที สอดรับปภ.เตือนภัยนนทบุรี ยกของมีค่ารับสถานการณ์น้ำสูง70ซม.

  กรณีกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนนทบุรี ประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขา คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 60-70 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 6-23 ตุลาคม 2567

  กรมชลประทาน รายงานว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ระบายายจากเพื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และแควน้อยฯ ไหลมารวมกันที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 ค่ายจิรประวัติจ.นครสวรรค์ ปัจจุบัน 2,383 ลบ.ม./วินาที
 

  กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก รวมรับน้ำ 424 ลบ.ม./วินาที แยกดังนี้

  พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าคลอง ประกอบด้วยคลองชัยนาท-ป่าสักฯ (ผ่าน ปตร.มโนรมย์) คลองชัยนาท-อยุธยา (ผ่าน ปตร.มหาราช) และคลองเล็กอื่น ๆ รวม 138 ลบ.ม./วินาที

  พื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าคลอง ประกอบด้วย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าน แล(ผ่าน ปรงพลเทพ) แม่น้ำน้อย (ผ่าน ปตร.บรมธาตุ) และคลองเล็กอื่นๆ รวม 286 ลบ.ม./วินาที

  ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้ 2,150 ลบ.ม./วินาที ระดับเหนือเขื่อน +17.31 ม.รทก.นอกจากนี้ เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก200 ลบ.ม./วินาทีไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 339 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลมาบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ย 1,865 ลบ.ม./วินาที

  ทังนี้ สำนักงานทรัพยากรนำแห่งชาติ (สทนช.)ประเมินว่ามวลน้ำจากลุ่มน้ำยมและน่านจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำประมาณ 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที จึงทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำ  มากกว่า 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที จะส่งผลกระทบกับจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี และยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี  

ที่มา
ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เฟซบุ๊ก กรมชลประทาน