posttoday

"คลัง" จัดเก็บรายได้ 9 เดือน พลาดเป้า 2.61 หมื่นล้าน

05 สิงหาคม 2567

คลัง กางผลจัดเก็บรายได้ 9 เดือน ปี67 อยู่ที่ 2.01 ล้านล้าน พลาดกว่าเป้า 2.61 หมื่นล้าน พร้อมกางผลงาน 3 กรมภาษี เก็บภาษีได้ 2.09 ล้านล้าน ต่ำกว่าเป้า 4.77 หมื่นล้าน "สรรพสามิต” ยังอ่วม เหตุลดภาษี-อุ้มอีวี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-มิ.ย. 67) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2.53 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 4.28 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 4.49 แสนล้านบาท


 ทั้งนี้ ในส่วนของผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-มิ.ย. 67) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.01 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.44 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.61 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% และมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ
 

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2567ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร อยู่ที่ 2.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 5.62 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 4.77 หมื่นล้านบาท หรือ 2.2% โดยการจัดเก็บรายได้รวมของกรมสรรพากร อยู่ที่ 1.61 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.2 หมื่นล้านบาท และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8.02 พันล้านบาท หรือ 0.5% ส่วนการจัดเก็บรายได้รวมของกรมศุลกากร อยู่ที่ 8.84 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.12 พันล้านบาท แต่สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.8พันล้านบาท หรือ 3.3%

 

 ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต อยู่ที่ 3.93 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 4.32 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5.85 หมื่นล้านบาท หรือ 12.9% จากผลกระทบของมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ และมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
 

ด้านรัฐวิสาหกิจ จัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.35 หมื่นล้านบาท และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7.4 พันล้านบาท หรือ 5%, หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.51 หมื่นล้านบาท แต่สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.85 พันล้านบาท หรือ 2.2% ด้านกรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 1.19 หมื่นล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.78 พันล้านบาท และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.43 พันล้านบาท หรือ 25.7%

 

“กระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด” นายพรชัย กล่าว