posttoday

BTS จี้ กทม.จ่ายหนี้สายสีเขียวหมื่นล้าน ชี้เตะถ่วง-มหาดไทยแทรกแซง

29 สิงหาคม 2567

“ชัชชาติ” ไร้แววเจรจาจ่ายหนี้ BTS หลังศาลสั่งจ่ายหนี้ O&M สายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 จำนวน 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วัน ผ่านมากว่า 1 เดือน ดอกเบี้ยวิ่งวันละ 7 ล้านบาท กลับผุดเหตุผลรออัยการสูงสุดตีความชี้มูลปปช.ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน คาดเป็นแผนยื้อหนี้ไอ้โม่งมหาดไทย

ผ่านมาแล้ว กว่า 1 เดือน นับตั้งแต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม หรือ KT ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ BTS  ภายใน 180 วัน

ทว่า กทม.โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยมากว่า 30 วัน ดอกเบี้ยวิ่ง วันละ 7 ล้านบาท โดยที่ไม่มีการนัดเข้ามาเจรจากับ BTS แต่กลับมีคำสัมภาษณ์ที่ส่งสัญญาณแปลกของรองผู้ว่าฯ วิศณุ ทรัพย์สมพล หลังเข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เกรียง กัลป์ตินันท์ ว่า 

เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องหนี้ ต้องทำเรื่องให้สภากรุงเทพมหานคร พิจารณา อีกส่วนคือ เรื่องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีตผู้บริหาร ในคดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585

วิศณุ ระบุว่า เรื่องนี้ กทม.ได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมเข้าไป จึงต้องปรึกษาอัยการสูงสุด เพราะไม่ทราบว่าการชี้มูลของป.ป.ช.จะส่งผลอย่างไร เราก็ต้องถามศาลว่ามีผลอย่างไรหรือไม่ แต่ตามไทม์ไลน์แล้วไม่น่าถึง 180 วัน แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่สภากกทม.เพราะเป็นคนอนุมัติงบประมาณ เพราะใช้เงินจากรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

เมื่อมีเรื่อง ป.ป.ช. และการสอบถามอัยการสูงสุดเข้ามาเกี่ยวข้อง สังคมจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นี่คือแผนการยื้อเพื่อจะยืดหนี้หรือไม่ และมีใครอยู่เบื้องหลัง !!!

เนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 นั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี ป.ป.ช.แต่อย่างใด แล้วเหตุใดหนี้ BTS ก้อนแรกจำนวน 23,091 ล้านบาท ที่กทม.ชำระเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 เพื่อชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , สะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ , หมอชิต-คูคต จึงทำได้

หากย้อนกลับไปดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 มติครม.เขียนไว้ชัดเจนถึงแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทของหน่วยงานของรัฐ โดยระบุว่า 

เพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐและเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการ กรณีหน่วยงานของรัฐข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นคดีเดียวหรือหลายคดีในประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน เช่น กรณีคดีที่อยในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญญาโตตุลาการ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด โดยผลของคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้หน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืออื่นใด จึงมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นอาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ 

BTS จี้ กทม.จ่ายหนี้สายสีเขียวหมื่นล้าน ชี้เตะถ่วง-มหาดไทยแทรกแซง
 

ดังนั้นการเงียบเฉย ไม่มีการนัด หรือ ตั้งโต๊ะเจรจากันด้วยความจริงใจ ย่อมเกิดปัญหากับเอกชน ถึงความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น และดอกเบี้ยที่วิ่งทุกวันๆละ 7 ล้านบาท เป็นเงินของประชาชน ท้ายที่สุด หาก BTS ไม่มีเงินจ่ายค่าเดินรถและซ่อมบำรุง หากต้องหยุดวิ่ง คนที่เดือดร้อนก็หนีไม่พ้นประชาชน ที่สำคัญศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว หากไม่ใช้หนี้ ตามกฎหมาย BTS สามารถยึดทรัพย์สินของกทม.ทั้งหมดได้ 

เรื่องนี้ แก้ไม่ยาก เพียงผู้ว่าราชการจังหวัดกทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ออกมาตั้งโต๊ะเจรจากับ BTS ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ BTS ผู้ถือหุ้น และประชาชน

หนี้ BTS มีอะไรบ้าง 

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ค.2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น 

•    ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26ก.ค. 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท 

•    ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ถึง ต.ค. 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

•    ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2  ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565 ถึง มิ.ย. 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท 

•    ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585 

BTS จี้ กทม.จ่ายหนี้สายสีเขียวหมื่นล้าน ชี้เตะถ่วง-มหาดไทยแทรกแซง