posttoday

น้ำท่วม ดันเงินเฟ้อเดือน ส.ค.67 สูงขึ้น 0.35%

05 กันยายน 2567

พาณิชย์ เผย ฝนตกหนัก-อุทกภัย กระทบผลผลิตผักสด-ผลไม้มีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูป ดันเงินเฟ้อ ส.ค.ปรับตัวสูงขึ้น คาดเงินเฟ้อทั้งปี67 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.0-1.0% กลับสู่กรอบเป้าหมาย 1.5% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 108.79 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.41 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 0.35% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) ราคาปรับลดลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก 

น้ำท่วม ดันเงินเฟ้อเดือน ส.ค.67 สูงขึ้น 0.35%

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.83% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 10 จาก 128 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข

 

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 0.35% ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.83% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร อาทิ น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ส้มเขียวหวาน ปลาทู น้ำมันพืช และไก่ย่าง เป็นต้น

 

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม  0.68% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) กลุ่มสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และกลุ่มเสื้อผ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี และเครื่องถวายพระ เป็นต้น 

 

เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.62%  เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.52% 
 

สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง


"คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 0.0-1.0% เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1.5% จากปัจจัยหลังจาก ราคาน้ำมันดีเซล ที่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนทางรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน กำหนดเพดานราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งตอนนี้รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อชัดเจน" นายพูนพงษ์ กล่าว

 

ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะมีการแจกเป็นเงินสดในเฟสแรก ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลนั้น เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ แต่ช่วยเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า