posttoday

เปิดกรณีศึกษาผลงาน Virtual Bank ในเอเชีย ประเทศไหนมีกำไรบ้าง?

24 กันยายน 2567

ส่องกรณีศึกษาผลการดำเนินงาน Virtual Bank ในเอเชีย พบ “เกาหลีใต้” มีกำไรหลังเปิดดำเนินการ 3 ปี ขณะที่อีก 3 ประเทศ “สิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย” ยังขาดทุน จับตา “ไทย” หลังเปิดดำเนินการกลางปี 69

“ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank ได้ปิดรับสมัครไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567 และทาง ธปท. ได้แจ้งว่ามีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย 

ธปท. คาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในเดือนกลางปี 2568 ผู้ขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากกระทรวงการคลัง และเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี หรือภายในกลางปี 2569

ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” ได้หยิบยกบทวิเคราะห์ของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ซึ่งได้นำเสนอ Virtual Bank ในต่างประเทศ ที่ได้เปิดดำเนินการไปแล้วว่าแต่ละประเทศมีจำนวนกี่ใบอนุญาต และมีประเทศใดบ้างมีกำไรและขาดทุน รวมไปถึงรูปแบบธุรกิจของแต่ละประเทศ 

พบว่า กรณีของสิงคโปร์ ธนาคารกลางออกใบอนุญาต Virtual Bank จำนวน 5 ใบ เมื่อปี 2562 ส่วนมาเลเซีย ออก 6 ใบอนุญาต เมื่อปี 2565 ผู้เล่นหลักในสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นกลุ่มเดียวกัน คือ “Grab และ Singtel” ส่วนผู้เล่นรายอื่นๆ มาจาก Fintech startup ในประเทศ ขณะที่ Virtual Bank ในอินโดนีเซีย (ใบอนุญาต 9 ใบ) นำโดยธนาคารต่างประเทศ และ Fintech Startup ในประเทศทั้งหมด โดยในทุกประเทศดังกล่าวยังไม่มีกิจการไหนที่ทำกำไรได้เลย

อย่างไรก็ตาม Virtual Bank ในเกาหลีใต้ (ใบอนุญาต 3 ใบ) สามารถทำกำไรได้ภายใน 3 ปี หลังเปิดดำเนินการ โดยเน้นธุรกิจเฉพาะ และ cryptocurrency โดยไม่มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ และขอบเขตของธุรกิจ

เปิดกรณีศึกษาผลงาน Virtual Bank ในเอเชีย ประเทศไหนมีกำไรบ้าง?

จากเปรียบเทียบ Virtual Bank ของประเทศต่างๆ ในเอเชีย พบว่า Virtual Bank ที่เปิดให้บริการอยู่ใช้โมเดลธุรกิจ 2 แบบ ได้แก่ 1.แบบเฉพาะทาง (Specialized Virtual Bank) และ 2.แบบทั่วไป (Virtual Bank for all) โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งจะมาจาก Fintech Startup (เช่น อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้) และกลุ่มบริษัท (เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย)

แต่ไม่ว่าในกรณีใด Virtual Bank ก็เป็นธุรกิจที่จะมีขาดทุนไปอย่างน้อย 3-5 ปี (ยกเว้นเกาหลีใต้ ซึ่งในกรณีของ Kakao, K Bank, และ Toss Bank สามารถทำกำไรได้ภายในเวลาน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งเป็นธนาคารเฉพาะทาง (Specialized Bank)