"ไทยเบฟ" ย้ำชัด 3 เดือนส่งท้ายปีเข้าสู่ช่วงท้าทายแต่ดี พร้อมกาง PASSION 2030
"ไทยเบฟเวอเรจ" ไม่หวั่น! ไตรมาสสุดท้ายปลายปีเผชิญเศรษฐกิจถดถอย แข่งเดือด ชี้ท้าทายแต่ดี พร้อมเดินหน้าอัดฉีดงบลงทุนปี 2568 กว่าหมื่นล้านบาท กาง PASSION 2030 ลุย " Reach Competitively - Digital for Growth"
"เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แน่นอนว่ายังมีความท้าทายในเรื่องของเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กำลังซื้อหลายประเทศเริ่มลดลง ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในไทย ซึ่งกดดันยอดขาย แต่ยังมองภาพการบริโภคในประเทศมีโอกาสฟื้นกลับมาได้ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และกลุ่มไทยเบฟยังรอคอยการกระตุ้นและการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลย่อมต้องเร่งดำเนินการฟื้นตัวเศรษฐกิจ"ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
แม้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% ผลจาก "ธุรกิจเบียร์" รายได้แตะระดับ 93,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% มี EBITDA น่าพอใจเติบโต 10.2% ด้วยต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณ์ลดลง แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9%
นอกจากนี้ "ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์" มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้น5.3% มี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และ "ธุรกิจอาหาร" มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% มี EBITDA แตะ 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ "ธุรกิจสุรา" รายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย -0.9% EBITDA ลดลง -1.3% จากปริมาณขายรวมลดลง -2.7%
"แม้รายได้ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้อาจไม่ได้เติบโตสูงมากแต่กำไรถือว่าดี ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แนวโน้มดี แต่มีความท้าทายหลายเรื่อง"
"ธุรกิจไทยเบฟ" ในปัจจุบันประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา , เบียร์ , เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยกลุ่มบริษัทไทยเบฟมีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ
กลุ่มบริษัทไทยเบฟจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีเครือข่ายโรงงานผลิตเบียร์ 26 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิต Bia Saigon และ 333 ของซาเบโก้ โรงงานผลิตสุรา 5 แห่งในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ เช่น บัลแบลร์ (Balblair) โอลด์ พุลท์นีย์ (Old Pulteney) และสเปย์เบิร์น (Speyburn) โรงงาน 1 แห่งในฝรั่งเศส สำหรับผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์โลกใหม่ (New World Spirits) ของคาร์โดรนา โรงงาน 2 แห่งในเมียนมาของ GRG และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีนซึ่งสำหรับผลิตสุราอวี้หลินฉวน (Yulinquan)
อัดฉีดกว่า 1.8 หมื่นล้าน
ในปี 2568 เตรียมเงินลงทุนเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท ถือว่าสูงขึ้นกว่าปกติที่ลงทุนปีละราว 7,000-8,000 ล้านบาท ด้วยการลงทุนโครงการ Agri Valley Farm ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มไทยเบฟมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
PASSION 2030 โตยั่งยืน
ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 สู่ความยั่งยืนใน "PASSION 2030" เติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเน้นให้ความสำคัญ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือ "กระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively)" พัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆได้อย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อ ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งที่พร้อมแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพ
"เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การบริการประทับใจเท่านั้น แต่สินค้าต้องดี ทุกอย่างต้องครบ เพราะลูกค้าต้องการทุกอย่างที่ดี นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำอย่างมืออาชีพที่ต้องดีพร้อมทุกด้าน"
เรื่องที่สอง คือ "ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)" กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตและการแข่งขันในอนาคต
"ถามว่าเรื่องดิจิทัลเราให้ความสำคัญมากแค่ไหน แน่นอนว่าต้องลงลึกทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill , ความคล่องตัว , รวดเร็ว , User Friendly ฯลฯ ทุกสิ่งต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการแข่งขันในอนาคตได้"
อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (IBIL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (TCCAL) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (FPL) ทั้งหมด 28.78% ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) 41.30% ให้แก่ IBIL ทำให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยกลุ่มจะเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
ผ่าอาณาจักร 5.6 แสนล้าน ‘สิริวัฒนภักดี’ ในมือ 5 ทายาทโต้คลื่นธุรกิจครั้งใหญ่