posttoday

พิชัย ถก ผู้ว่าธปท. ชื่นมื่น จับตาประชุมกนง. -แก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ

03 ตุลาคม 2567

พิชัย หารือ เศรษฐพุฒิ ถกปัญหาค่าเงินบาทชื่นมื่น เผยเข้าใจตรงกัน การประชุม กนง.มีผลอย่างไรต้องสามารถอธิบายได้ เล็งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย จ่อทบทวนกรอบเงินเฟ้อ หลังประเมินทั้งปี เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย 1-3%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(3ต.ค.67) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการฯ ธปท. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย รวมถึงการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว

 

โดยนายพิชัย กล่าวว่า คลังและธปท.ได้มีการหารือร่วมกันถึงการหาแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของไทยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาคลังได้ดำเนินการในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไปแล้ว ส่วนที่เหลือที่จะต้องดำเนินการคือ ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ สำหรับแนวทางการดูจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยจะเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะมีการ่วมมือกันระหว่างสถานการเงิน และภาครัฐ โดยมีคอนเซ็ป ไม่ลดหนี้โดยไม่มีเหตุผล เพราะเป็นเรื่องของ Moral hazard ส่วนรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นอย่างไรต้องใช้เวลา เพราะต้องลงลึกในรายละเอียด แต่ภาพรวมต้องเป็นต้องให้หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่ผ่อนปรนได้ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งแล้ว อีกกลุ่ม คือ กลุ่มเปราะบาง พบว่า กลุ่มนี้มีหลายแสนบัญชี และเหลืออีกประมาณ 7-8  แสนบัญชี ซึ่งอยู่ในส่วนของเครดิตบูโรด้วย แต่พบว่ามีจำนวนเงินหนี้ต่อหัวน้อยมาก ซึ่งอยู่ระหว่างหาแนวทางว่าจะทำอย่างไร 

“เรื่องนี้ขอเวลาอีกนิด เพราะเป็นเรื่องรายละเอียด และเวลาทำอยากให้เป็นความร่วมมือสถาบันการเงิน และคลังโดยมีธปท.ลงมาช่วย ซึ่งจะเป็นการยืดระยะเวลาชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย ซึ่งก็ต้องดูว่าทำได้มากน้อยแ่ค่ไหน” นายพิชัย กล่าว 

นอกจากนี้ คลังและธปท. ยังได้มีการหารือถึงการพิจารณานโยบายการเงิน หรือการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เศรษฐกิจร่วมกัน จากปัจจัยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาทิ การลดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยุโรป และมาตรการต่างๆของจีน ซึ่งมาตรการของ 3 กลุ่มประเทศใหญ่ๆ ซึ่งมีอิมแพคต่อเม็ดเงินไหลเข้า รวมถึงไทย แม้วันนี้ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งอ่อนค่าขึ้นมาเล็กน้อยแล้วก็ตาม  ซึ่งก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร 

“วันนี้ก็ได้ทำความเข้าใจว่าถ้าดอกเบี้ยลดลง ก็จะเป็นผลดีต่อคนที่กู้ใหม่ แต่เป็นกลุ่มที่มีความสามารถกู้ สำหรับคนที่ไม่มีความสามารถในการกู้อาจจะไม่ได้กู้ ก็ไม่ควรเป็นแบบนั้น และจะทำให้ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง ซึ่งก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกัน”นายพิชัย กล่าว

ส่วนด้านค่าเงินที่มีผลต่อการส่งออก ก็มีการวิเคราะห์กันว่าผลเป็นอย่างไร ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบในเชิงปริมาณ โดยส่วนตัวคิดว่าการส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ของปีนี้ รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ต้องดู เพราะการแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทไม่ได้แก้ตรงๆ จะต้องประกอบด้วยหลายมาตรการ ว่าจะใช้เครื่องมือตัวไหน เมื่อได้ข้อมูลที่ตรงกันแล้วขึ้นอยู่กับกนง.จะเหลือใช้เครื่องมือตัวใดในการดูแลค่าเงินบาท หรือพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายซึ่งมองว่า การพิจารณของกนง.รอบนี้คณะกรรมการต้องพิจารณาโดยละเอียด

“ผมกับธปท.เข้าใจกันมานานแล้ว มองด้านเดียวกัน แต่การจะแก้ไขทันทีคงไม่ได้ ซึ่งต้องพิจารณาว่าดอกเบี้ยที่ลดลง เพื่อให้คนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ฟื้นตัว อันนี้สำคัญกว่าการที่ดอกเบี้ยลดลงไม่กี่เบซิสพอยท์ ผลมันไม่เยอะ แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำคัญกว่า” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวถามว่า หากการประชุมกนง.ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร นายพิชัยกล่าวว่า ถ้ากนง.ไม่ลดดอกเบี้ยก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไม่ลด หรือถ้าลดดอกเบี้ยก็ต้องมีเหตุผลว่า ทำไมต้องลด ซึ่งการลดดอกเบี้ยของกนง. รัฐบาลก็น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าธปท.น่าจะมีหลายเครื่องมือในการดูแลนโยบายการเงิน ซึ่งเรื่องที่เราห่วงจริงๆเป็นเรื่องของการเข้าถึงสภาพคล่อง ซี่งที่เรากับธปท.เห็นตรงกันว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแต่มีปัญหาเรื่องสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากกว่า 

 

นอกจากนี้ นายพิชัยกล่าว ว่าภายในเดือนต.ค.นี้ ตนจะเรียกผู้ว่าการธปท.มาหารือร่วมกันอีกครั้งแบบลงลึกในละเอียดมากขึ้น ถึงการกำหนดกรอบเงินเฟ้อใหม่ เนื่องจากมองว่า ภายในไตรมาส4 ปีนี้จะเห็นเงินเฟ้ออยู่ที่ 1% และเงินเฟ้อทั้งปีจะหลุดที่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ต่อปี ซึ่งจะต้องมีการหารือเพื่อทบทวนกันใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร