posttoday

ผู้บริหาร-พนักงานถูกขังลืม2ปีเตรียมฟ้องกลับ GGC คดีสต๊อกทิพย์ 2 พันล้าน

16 ตุลาคม 2567

ศาลอาญายกฟ้อง คดีสต๊อกลม 2 พันล้านของ GGC ทุกประเด็น ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมตัวกันฟ้องกลับบอร์ด สร้างวิบากกรรมผู้บริหารและพนักงาน ติดคุกถูกขังลืม นานกว่า 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่. อ.2079/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3201/2567 สืบเนื่องจาก เหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังของ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กลุ่มบริษัทในเครือปตท. สูญหาย เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 

ตามที่ GGC ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และ GGC ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนภายใน มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยได้ตัดสินให้ผู้บริหารและพนักงาน ที่เกี่ยวข้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และแจ้งความดำเนินคดีผู้บริหารพนักงาน และคู่ค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร GGC 2 ราย กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนและในบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการทุจริตจนเป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย โดยได้กระทำผิดพร้อมพวกที่เป็นเอกชน 

กรณีร่วมกันดำเนินการให้บริษัทฯ ซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทฯ ว่าได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งกรณีส่งมอบวัตถุดิบไปกลั่นโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันทำให้ GGC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท 

ต่อมาผู้บริหาร GGC 2 ราย เจ้าหน้าที่ 6 ราย และ เอกชนถูกฟ้องเป็นคดีอาญา โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นแรก จำเลยร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่ ศาลอาญาวินิจฉัยว่า  คดีฉ้อโกงเป็นคดีที่ยอมความได้ การที่โจทก์ร่วม (GGC) ได้สอบสวนและลงโทษทางวินัยของจำเลยที่ 1,2 , 4-7 และเรียกจำเลยที่ 8,9 ซึ่งลาออกไปแล้วมาสอบสวนในช่วงปี 61 ถึง กลางปี 62 แสดงว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ร่วม (GGC) โดยนายสุทธิสารฯ กลับแจ้งความร้องทุกข์ให้เอาผิดแก่จำเลย ที่ 1,3-9 ในปี 64 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน หลังรู้ตัวผู้กระทำผิดเป็นอันหมดอายุความในการเอาผิดจำเลยฯ
 
ส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่แรกนั้นคำให้การของตัวแทนโจทก์ร่วม (นายสุทธิสาร และนางสาววัลภาฯ) ได้ให้การตรงกันว่ามีการซื้อขายผิดปกติกับจำเลยที่ 3 หลายรายการโดยเป็นการทำสัญญา เปิดใบสั่งซื้อ และจ่ายเงินในวันในวันเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การแก้คำฟ้องว่าเป็นการทำตามปกติของธุรกิจนี้และบริษัทก็ไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามให้ทำไว้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ร่วม(GGC) ได้มีการซื้อขายแบบดังกล่าวมาก่อนที่จะเกิดเหตุหลายครั้งทั้งกับคู่ค้ารายอื่นๆที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็มีการทำแบบเดียวกัน ไม่ได้เป็นการจงใจ กระทำแต่อย่างใด เห็นควร ยกฟ้องจำเลย2 ในข้อหาฉ้อโกง

ประเด็นที่ 2 จำเลยที่ 1,2 กระทำผิดตามพรบหลักทรัพย์หรือไม่ และจำเลยที่ 3,4,5,6,7,8,9 กระทำผิดฐานสนับสนุนหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยว่า  จำเลยที่1 เป็นผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ดูแลบริหารองค์กรในภาพรวมและมีหน้าที่อนุมัติกรอบราคาตามที่จำเลย 2 ได้นำเสนอมา จำเลย 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทอย่างรอบคอบ จำเลยที่ 4-9 เป็นพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่1 และ2 ในคดีนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจำเลย 1 ได้สั่งการให้จำเลย2 ไปติดตามทวงถามของที่ค้างจนเป็นผลให้ทางไทยศรีทอง ดำเนินการคืนของมาได้บางส่วนและมีการจัดทำแผนการส่งของที่เหลือมาคืนอย่างชัดเจนถือว่าเป็นการพยายามแก้ไขปัญหาของจำเลย 1 และ 2 ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นอย่างเป็นประจักษ์ว่าจำเลย 1 และจำเลย 2 ได้มีการรับผลประโยชน์จากบริษัทไทยศรีทอง ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ศาลได้เห็นแต่อย่างใดการซื้อขายดังกล่าวก็เป็นการกระทำมานานก่อนเกิดเหตุจนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของโจทก์ ร่วม ฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1,2 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์จึงมีเหตุควรสงสัยยกประโยชน์แห่งเหตุอันควรสงสัยให้จำเลยที่1 และ2 ว่าไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 4-9 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนั้นเมื่อจำเลยที่1,2 ไม่มีความผิดจึงไม่มีความผิดไปด้วย ส่วนจำเลย 3 นั้นเมื่อเกิดเหตุได้มีการพยายามแก้ไขโดยการส่งของคืนบางส่วนและมีการทำตารางที่จะทยอยส่งคืนอีกด้วยถือว่าไม่มีเจตนาในการกระทำผิดจึงยกฟ้องจำเลยที่ 3

ประเด็นที่ 3 เรื่องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยทุกคนไม่มีความผิดประกอบกับโจทก์ร่วม(GGC)ได้ไปยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของบริษัทไทยศรีทอง กับกรมบังคับคดีและบริษัทไทยศรีทอง อยู่ในระหว่างการล้มละลายแล้ว ขั้นตอนทางแพ่งจึงไม่เกี่ยวกับจำเลย ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
    
คดีนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็น TALK OF THE TOWN ของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. มีการทุจริต และ/หรือ มีการบริหารงานที่ผิดพลาด ของบอร์ด GGC ซึ่ง บอร์ด GGC รับรู้รับทราบการบริหารงานทั้งหมดในทุกขั้นตอน แต่เลือกที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้บริหารเพียง 2 ราย และพนักงานระดับล่าง อีก 6 ราย

สุดท้ายแล้วศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา ทุกประเด็น ซึ่งจำเลยในคดีอาญาทั้งหมด 9 รายได้ถูกขังในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี ร่วม 2 ปี โดยที่ไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์สูงกว่า 2 พันล้านบาท ผลคดีกลับตาลปัตร ไม่เป็นดังที่ บอร์ด GGC ได้วางแผนเอาไว้    

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ถูกขังลืมร่วม 2 ปี  อาจรวมตัวกันฟ้อง บริษัท GGC และ กรรมการบริษัท GGC ร่วมกันกระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยเฉพาะคดีอาญา ความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 , ความผิดในกระบวนการยุติธรรม แจ้งความเท็จ , ฟ้องเท็จ และ/หรือ เบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา 172 , 175 และ 177 รวมทั้งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่มีการรีบเร่งสรุปสำนวนตามคำสั่งการ

ทั้งที่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น กลับส่งฟ้องโดยปราศจากพยานหลักฐาน  เข้าข่ายการกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ  หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157