posttoday

สรรพากร พบ บอส ดิไอคอนกรุ๊ป มีรายได้แต่ไม่ยืนภาษี เตรียมออกหมายเรียกตรวจ

18 ตุลาคม 2567

จุลพันธ์ เผยสรรพากร สอบพบ บอส ดิไอคอนกรุ๊ป มีรายได้แต่ไม่เสียภาษี ชี้ตามกฎหมายสามารถยึดเงินคืนได้ เตรียมทบทวนกฎหมายฉ้อโกงประชาชนให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน นัดถก สศค.สัปดาห์หน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCon Group) ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี้ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รวมถึงกระทรวงการคลัง ให้เร่งทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527  ให้มีความทันสมัย เท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายมีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2527 

 

      โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปเร่งพิจารณารายละเอียดทั้งหมดว่าจ ะต้องมีการปรับปรุงในส่วนไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์มากขึ้น 

“กฎหมายฉ้อโกง ใช้มานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี 2527 ต้องปรับปรุงให้มีความทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ส่วนแก้ไขอย่างไรคงยังให้คำตอบไม่ได้ โดยจะมีการหารือกับ สศค. เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า” 

          สำหรับการตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด รวมถึงผู้บริหารทั้ง 18 ราย หรือที่เรียกันว่า บอส นั้น กรมสรรพากร พบว่า มีผู้บริหารบ้าง รายได้แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ทั้งในส่วนของภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรต้องเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดกันต่อไป ทั้งนี้หากหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต้องการขอข้อมูลการเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการคลังก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่  

“จากการตรวจสอบของกรมสรรพากร ของ บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด รวมถึงผู้บริหาร พบว่าบางรายมีรายได้แต่ไม่ยื่นภาษี จากนี้ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่ารายการไม่ตรงกับที่แจ้งรายได้อย่างไร รายได้ส่วนเกินมาจากไหน ส่วนการไม่ยื่นภาษีไม่ใช่เรื่องผิดหากในปีนั้นเขาไม่มีรายได้จริงก็มาพิสูจน์กันต่อไป”

 

     ในส่วนรายได้ที่รัฐต้องสูญเสียไป หากพิสูจน์ได้ กรมสรรพากรสามารถเรียกคืนได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามต้องดูว่าเงินที่ถูกอายัดจะต้องไปอยู่ในส่วนไหนก่อน 

 

      ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็ได้ออกหนังสือไปยังธนาคารเพื่อขอให้มีการส่งข้อมูลเพื่อนำมาตรวจสอบการเสียภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล โดยคลังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ และหากชุดสืบสวนมีการร้องขอข้อมูลเข้ามา เราก็ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่

      นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ต้องดูหลักฐานของ สคบ. ว่า มีฐานความผิดว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แต่ในส่วนของกระทรวงการคลัง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ก็ต้องไปดูว่าการดำเนินงานของ The ICON Group จะเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งประกอบด้วย 3  ข้อ ได้แก่ 1.เป็นการโฆษณา ให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 2.การจ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่สถาบันการเงินคิด และ3. ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง แต่มีการนำเงินจากคนอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้กับผู้ที่ให้การกู้ยืม 

 

       โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย สศค. ยินดีที่จะเข้าไปให้ข้อมูล และปัจจุบันได้ส่งทีมผู้เชียวชาญเข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว

 “สศค. รับเรื่องและเตรียมจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อเร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สตช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่าจะมีประเด็นอะไรที่จะสามารถนำมาปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ได้บ้าง เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป”