posttoday

ผ่าอนาคตประเทศไทย เร่งเครื่อง "พัฒนาคน-เทคโนโลยี-ดาต้า" เสริมแกร่ง

19 ตุลาคม 2567

"อภิสิทธิ์-วราวุธ"ชี้อนาคตไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะคน-เทคโนโลยี ผนึกกำลังอาเซียนสร้างจุดแข็ง ด้าน"จิรายุส" ย้ำชัดเร่งเดินหน้า ESG , Digital , Green Economies สู้ศึกมาตรการ CBAM ในอนาคต พร้อมกางโรดแมพไฟแนนซ์เชียล-ดิจิทัลฮับ-ดาต้าเซ็นเตอร์ คำตอบอนาคต

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวในงานสัมมนา BITKUB SUMMIT 2024 ภายใต้แนวคิด "Gateway to the Future: เปิดประตูเทคโนโลยีและการลงทุน สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน" ในหัวข้อ The Future of Thailand ก้าวต่อไปของประเทศไทยเมื่อโลกเปลี่ยน คุณพร้อมหรือยัง ? ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการคือการพัฒนาทักษะของคนให้สอดรับกับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี 

     โดยทักษะที่สำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้ต่อเนื่อง ทุกคนหยุดเรียนรู้ไม่ได้ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ , ภาษาจีน , เทคโนโลยี , กฎหมาย เป็นต้น เพราะในอนาคตคนรุ่นใหม่จะคิดในมุมใหม่คาดหวังชีวิตอิสระ อยากเป็นเจ้านายตัวเอง มีทักษะที่กว้าง ซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนที่เน้นทำงานและเกษียณ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้และพัฒนาทักษะ

     ภาพอนาคตประเทศไทยอีก 10 ปี สิ่งสำคัญมี 4 เรื่องคือ 1. ความตึงเคลียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เราควรรวมตัวกับอาเซียนและมีบทบาทเชิงรุกที่จะร่วมมือกันคลี่คลายความตึงเคลียด ไม่ใช่แค่ตั้งรับว่าจะทำอย่างไร เลือกข้างไหน เพราะสุดท้ายต้องถูกบีบให้เลือกข้างอยู่ดี นี่เป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันในภูมิภาคของเราที่ได้รับการยอมรับเรื่องเศรษฐกิจ ทำไมอาเซียนไม่ทำแบรนด์ของอาเซียน โดยไม่แข่งขันกันเองเพื่อสร้างจุดแกร่งของกลุ่มอาเซียน

     2. เรื่องของเทคโนโลยี เราต้องเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามา

     3. สิ่งแวดล้อม ก่อนอื่นการพูดความจริงที่ว่าการจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้นั้นมีต้นทุนสูงมาก รัฐบาลจะช่วยได้เท่าไหร่ เอกชนจะยอมเฉือนเนื้อเท่าไหร่ และประชาชนพร้อมจ่ายเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่ต้องพูดให้ชัด 

     และสุดท้าย 4.สัญญาประชาคมในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การจะเชื่อมโยงการผูกขาดที่ไม่เอื้อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์นั้นจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งเอาตามจริงความเหลื่อมล้ำยังไงก็ไม่หมด เพราะมันเป็นเรื่องการแข่งขัน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียิ่งเอื้อต่อการผูกขาด ใครที่พึ่งพาเครือข่ายยังไงก็เสียเปรียบอยู่ดี ดังนั้นทางแก้คือการจะแก้ไขเรื่องสวัสดิการ การปรับระบบภาษี เป็นต้น

     นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเช่นกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง หัวใจสำคัญคือคนไม่เริ่ม เพราะเรามีจำนวนคนเท่านี้ สิ่งที่เทคโนโลยีช่วยได้คือเพิ่มรายได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ว่าเพิ่มประชากรไม่ได้แต่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมี อาจต้องแก้เรื่ององค์รวมว่าถ้าประชากรไม่เพิ่มจะทำอย่างไรและค่อนข้างท้าทายในอนาคตของไทย 

     ส่วนแรงงานต่างชาติที่เข้ามา คนไทยต้องเปิดความคิดว่าทุกวันนี้เราต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ เพราะแรงงานไทยหายาก แน่นอนว่าแรงงานต่างชาติไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนไทย แต่เพราะแรงงานไทยไม่เพียงพอต่องาน

     นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า วันนี้เราเจอความท้าทาย ทั้ง ความเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ , เทคโนโลยี , และ Green Economies ยิ่งในเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงมาก 93%จีดีพี วิกฤติความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นก็ต้องเร่งฟื้น ต้องสร้างกฎหมายที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงโลก ไทยติดกับดักธุรกิจรุ่นเก่า อะไรส่งออกต้องจับต้องได้ทั้งรถสันดาบ แต่ประเทศพัฒนาเกินครึ่งเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้ายังแข่งขันแบบนี้ อุตสาหกรรมเก่าอาจจะแข่งยากในอนาคต แต่อนาคตใหม่ควรเป็นไฟแนนซ์เชียล, ดิจิทัลฮับ ทำสิ่งใหม่ทั้ง AI , บิ๊กดาต้า , ดาต้าเซ็นเตอร์ ฯลฯ นี่คือโอกาสอนาคต

     ดังนั้นอนาคตประเทศไทยต้องผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ทางกระทรวงต่างๆต้องคุยในเรื่องดิจิทัลและกรีนอิโคโนมีเพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนา ส่วนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เราต้องรวมเป็นปึกแผ่นให้เร็วที่สุด ส่วนโซเชียลคอนแทรค คนรุ่นใหม่ทำงานได้ทุกที่ เรื่องโพรวิเด้นท์ฟันด์ต้องมีการปรับเปลี่ยน อีกไม่กี่ปีข้างหน้า มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาแล้วจะทำอย่างไร และหากไม่ทำเรื่อง ESG , Digital , Green Economies ในวันนี้อาจไม่พร้อมการแข่งขันในอนาคต

     "เราติดกับดักธุรกิจเก่า ไม่สามารถยกระดับรายได้ของประเทศขึ้นมาสักที แต่ถ้าสามารถยกระดับธุรกิจ หรือความสามารถใหม่ๆ เงินใหม่ๆเข้ามาก็จะทำให้มีเม็ดเงินแบบใหม่เข้ามาได้ และการแก้ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานภาครัฐได้เท่ากัน ไม่ใช่จากคอนเนคชั่นก็จะช่วยแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้"