posttoday

คลังขอ 3 เดือนสังคยนา “กฎหมายฉ้อโกง” ชงเพิ่มโทษหนัก-คดีไม่หมดอายุความ

28 ตุลาคม 2567

จุลพันธ์ รมช.คลัง เร่งรื้อพ.ร.ก.ฉ้อโกง อุดช่องโหว่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ชงเอาผิดถึงแม่ข่ายระดับกลาง-ล่าง เพิ่มโทษให้สะท้อนความเสียหายปัจจุบันที่สูงถึงระดับพันล้าน จัดหนักคดีไม่หมดอายุความ แม้ผู้ต้องหาหลบหนี เตรียมโยนกฎหมายให้ยุติธรรมดูแลแทน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งไปพิจารณารายละเอียดการยกร่าง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 สืบเนื่องจากกรณี The ICON Group เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งล่าสุด สศค.ได้รายงานถึงรายละเอียดการยกร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เบื้องต้นให้รับทราบแล้ว และได้สั่งการเพิ่มเติมในส่วนที่ยังต้องแก้ไข และปรับปรุงเพิ่มเติมเให้ครอบคลุมต่อไป 

 

       ซึ่งการยกร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ในครั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีการใช้งานมานานถึง 40 ปี จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้อง และเท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

      ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้เตรียมข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในหลายประเด็น โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ได้แก่

 

      ประเด็นแรก คือ เสนอเปลี่ยนผู้ถือกฎหมาย จากปัจจุบัน คือ สศค. กระทรวงการคลัง แก้ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ถือกฎหมาย เพราะกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย เป็นผู้ร่างกฎหมายในปี 2527 แต่ไม่ได้เป็นหน่วยงานปฎิบัติ

 

     ประเด็นที่สอง การเอาผิดไปถึงแม่ข่ายระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งกฎหมายปัจจุบันไม่เอื้อในการเอาผิด หรือเอาผิดไปถึงได้ค่อนข้างยาก รวมถึงการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ที่ปัจจุบันมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี และสะท้อนสัดส่วนกับความเสียหาย เพราะปัจจุบันมูลค่าความเสียหายสูงถึงระดับพันล้านบาทเกือบทุกคดีความ 

 

     ประเด็นที่สาม เรื่องของอายุความ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบัน หากผู้ถูกกล่าวโทษหลบหนีจนขาดอายุความ คดีความเป็นอันขาดด้วย จะแก้ไขให้อายุความหยุดลงกรณีผู้ต้องหาหลบหนี จะช่วยป้องกันการหลบหนีคดี คดีความจะได้ไม่ขาดจะได้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด กฎหมายใหม่นี้ทำให้คดีลักษณะนี้อายุความไม่สะดุดหยุดลง เพราะว่าผู้ต้องหาหลบหนี

หากเกิดกรณี ผู้ต้องหาหลบหนีคดี จนคดีหมดอายุความ คดีความก็จะไม่สะดุดหยุดลงหรือต้องสิ้นสุดเหมือนที่ผ่านมา แต่อายุความจะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็แปลว่า เขาจะกลับมาไม่ได้

 

      อย่างไรก็ ทั้งหมดนี้ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม รวมไปถึงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะว่า มีกรอบใหญ่ๆ หลายเรื่องที่กระทรวงการคลังจะเขียนรายละเอียด หรือตัวเลขเองไม่ได้ ต้องผ่านการหารือ และเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพยามยกร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

เราสั่งการไปให้สศค.ยกร่างพ.ร.ก. ให้ทันเหตุการณ์มากขึ้น เพราะในหลายประเด็นยังไม่ครอบคลุม ไม่ทันสถานการณ์ ปัจจุบันคดีเหล่านี้มีการพัฒนาไปในหลายรูปแบบ ตอนนี้ก็มีในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องสังคยนากฎหมายใหม่ให้ทันการณ์ ส่วนต้องเสร็จเมื่อไรยังไม่ได้กำหนดเวลา โดยปกติใช้เวลาไม่นาน โดยจะเร่งให้เสร็จภายใน 3 เดือน หากยกร่างเสร็จแล้ว ขั้นตอนจากนี้คลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

      ส่วนที่มีข้อเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แล้วยกระดับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ และให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้ากว่านี้ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ขณะนี้จะยังไม่ยกเลิกการใช้พ.ร.ก. เพราะโดยหลักเวลาทำอะไรที่มันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพกว้าง กลไกลของกฎหมายก็อนุญาตให้ออกเป็นพ.ร.ก. ดังนั้นตอนนี้จึงไม่ได้ตัดสินใจไปถึงขนาดนั้น โดยมองว่า การออกพ.ร.ก.มีความรวดเร็วมากกว่าการออกกฎหมายเป็นพ.ร.บ.