ภาคเกษตรอ่วม น้ำท่วมเสียหาย 1.28 ล้านไร่ กระทบจีดีพีปี67โตแค่ 2.7%
น้ำท่วมกระทบจีดีพี ภาคการเกษตรอ่วมสุด 1.28 ล้านไร่ ถึงเวลา ก้าวสู่ Agriculture Hub ใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เพิ่มผลผลิต รับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
จากการแถลงของนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7% โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมามีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสำรวจขนาดความเสียหายเบื้องต้น คาดว่ามูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ภาคที่ได้รับผลกระทบจะเป็นการเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีปัจจัยน้ำท่วม คาดว่าปีนี้จีดีพีจะสูงเกิน 2.7% เพราะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นั้น
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วม เกิดจากการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะพายุจากแถบทะเลจีนใต้ที่มีอิทธิพลส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำและพื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหล ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน (Climate Change) ที่ส่งผลให้ฤดูฝนยาวนานขึ้น และเกิดพายุในช่วงที่ไม่คาดคิดมากขึ้น
ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย โดย 30% ของการจ้างงานภาคการเกษตรไม่อาจเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อีกแล้ว รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย ยิ่งส่งผลเสียต่อภาคการเกษตร การผลิตและความมั่นคงของรายได้เกษตรกรด้วย
คาดความเสียหาย 1.28 ล้านไร่
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคเกษตร ในช่วง ก.ค – ก.ย. 2567 พบว่า พื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มของไทย คาดว่าจะมีสูงถึง 1.28 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 1 ล้านไร่และพืชสวน 6-7 แสนไร่และจำเป็นต้องเร่งใช้งบ 1.83 แสนล้านบาทในการบรรเทาความเสียหายและทำโครงการลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินหมุนในเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ จีดีพี ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่
อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 2.45 หมื่นล้านบาท หรือ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ 5.12 พันล้านบาท ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 171 ล้านบาท เช่นเดียวกับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังระบุด้วยว่า จะมีอย่างน้อย 36 จังหวัดของไทยที่ได้รับผลกระทบนี้
ถึงเวลาก้าวสู่ Agriculture Hub ใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาไปสู่การเป็น Agriculture Hub แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติและเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เช่น การใช้เครื่องมืออัจฉริยะเพิ่มผลผลิต และการร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่
นอกจากนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน นโยบายสนับสนุน และการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ
ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ยังช่วยส่งเสริมการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในระดับโลกย่อมมีความท้าทายสูง องค์กรอย่างธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) ได้ให้เงินสนับสนุนจำนวนมากเพื่อส่งเสริมเกษตรที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อคงความเป็นผู้นำในภาคส่วนนี้
เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Agriculture Hub รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศแผนสนับสนุนให้เกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตร ในหลายพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จริงในพื้นที่เพาะปลูกของตน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น Agriculture Hub เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรที่กว้างขวางและหลากหลาย นอกจากนี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี และการสนับสนุนจากรัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในภาคการเกษตรและทำให้ประเทศไทย สามารถแข่งขันในตลาดเกษตรโลกได้
อนาคตภาคเกษตรไทยไปทางไหน
แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 เป็นก้าวสำคัญในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพอาหารของไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืนต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างระบบการเกษตรที่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทางด้านของประเทศไทยเองก็มีความคืบหน้าในเรื่องของความร่วมมือในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่หรือ New Breeding Technology – NBT โดยเฉพาะการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing) โดยร่วมกับทางกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ทั้งด้านการวิจัยและการกำกับดูแล เมื่อ 24-29 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา แกนหลักของความร่วมมือนี้ก็เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรได้นำเทคโนโลยีนี้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
เนื่องจากเส้นทางสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรระดับโลกอาจไม่ง่าย แต่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในภาคเกษตรจะไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน เพื่ออนาคตที่มั่นคงยั่งยืนต่อไป