posttoday

คลัง รับลูกแบงก์ขอลดเงินนำส่ง FIDF แลกพักดอกเบี้ย 3 ปี แก้หนี้ครัวเรือน

04 พฤศจิกายน 2567

พิชัย รมว.คลัง เร่งสรุปแนวทางแก้หนี้ครัวเรือน หลังแบงก์ขอลดเงินนำส่ง FIDF จากปัจจุบันที่ 0.46% แลกพักดอกเบี้ย 3 ปี หากได้ข้อสรุปพร้อมชง ครม. ไฟเขียวโดยเร็ว

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือน หลังได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะต้องมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปสุดท้ายอีกครั้ง โดยยอมรับว่าสถาบันการเงินอาจจะมีข้อเสนอให้มีการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากปัจจุบันที่ 0.46% ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมาคุยกันอีกที ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังมองว่า ตราบใดที่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ก็พร้อมที่จะพิจารณา

 ผมรอเขามาสรุป ค่อยมาขันน็อต ขันสกรูกันอีกที โดยเรื่องที่แบงก์มีข้อเสนอให้ลดเงินนำส่ง FIDF นั้น ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในทางเลือกด้วย ซึ่งจะต้องมาตกลงกันบนโต๊ะ เอามาคุยกัน ผมจัดการได้ ถ้าเราเห็นด้วย เมื่อสรุปแล้วก็เอาเรื่องนี้ไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผมมองว่าตราบใดที่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ เราก็โอเคอยู่แล้ว ส่วนจะมีการหารืออีกเมื่อไหร่ คงต้องรอข้อสรุปจากทุกส่วนก่อน ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะประชุมด้วย ผมถามได้จากทุกฝ่าย และเรื่องนี้ต้องเร่งทำให้จบโดยเร็วที่สุด

        ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับระหว่างกระทรวงการคลัง และแบงก์พาณิชย์ในวันศุกร์ที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางแก้หนี้เสียสำหรับรายย่อย  แบ่งเป็น 1. การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และ 2. การเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มเติม โดยการให้ความช่วยเหลือจะเน้นไปที่กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งมีหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน และกลุ่มหนี้เสียไม่เกิน 1 ปีด้วย ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านกว่าราย 

 

     ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังสามารถอยู่ได้ แบงก์พาณิชย์ได้เสนอให้พักดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และจะให้มีการผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยให้จ่ายเพียงครึ่งเดียวด้วย รวมถึงจะมีการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น แต่ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังต้องเข้าไปอยู่ในเครดิตบูโร ส่วนจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้หรือใหม่ ต้องให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่ โดยคงต้องไปดูความสามารถในการจ่ายหนี้ และรายละเอียดอื่น ๆ ประกอบด้วย

 

     นอกจากนี้นายพิชัย ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า ไม่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนางกมลา แฮร์ริส ผู้ จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่า จะเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจการค้าทั้งนั้น  เพราะนโยบายของทั้ง 2 ต่างยึดเอาประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นสำคัญ 


ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็มีปัญหาทั้งนั้น เพราะที่ผ่านมาสหรัฐมีบทบาทแบบ One Man Show แต่ปัจจุบันมีขั้วอื่นๆ มา ดังนั้นหลังจากนี้สหรัฐจะต้องมีการปรับแนวนโยบายในการบริหารประเทศ ทำให้มองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาทั้งหมด แต่ความหนัก และความแรงอาจจะไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งนั้น ประเทศไทยจะต้องพิจารณาภาพรวมและปรับตัวให้ดี ซึ่งหากปรับตัวได้ดีก็อาจจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยจะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ต้องพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นนการผลิตโดยคนท้องถิ่น (Local Content) ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับปรุงตัวเอง และ 2. โครงสร้างความเป็นเจ้าของการผลิตจะต้องเป็นของคนไทยด้วย ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาประกอบในประเทศไทยเท่านั้น 

 

      ส่วนกรณีที่มีการประเมินว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนจากการค้าอาจจะรุนแรงมากขึ้นนั้น มองว่า ปัจจุบันเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้ที่การส่งออกมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศที่เคยใช้เรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นแกนหลักก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพียงแต่จะดำเนินการแบบเปิดเผยหรือไม่ แต่หลักการคือจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงจนเกิดความผิดปกติ 

 

     ดังนั้นจึงไม่อยากให้มองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแค่ระยะสั้น ๆ แต่อยากให้มองย้อนหลังแล้วก็มองไปข้างหน้าว่าเราจะไม่เสียเปรียบใช่หรือไม่ ถ้ามองสั้น ๆ บางช่วงเราอาจจะแข็งค่ากว่าคู่แข่ง และบางช่วงก็อาจจะอ่อนค่ากว่า การสู้แบบนี้ไม่ได้ เพราะจริง ๆ เรื่องเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าอ่อนค่าก็ต้องไม่น้อยกว่าคู่แข่งเพราะเป็นประเทศส่งออกเหมือนกัน และ 2. ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทที่มีผลต่อดอลล่าร์ แต่เป็นเหมือนกันทุกประเทศ ดังนั้นเวลาค่าเงินต่างกันก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินลงทุนไหลกลับประเทศเขา หรืออาจจะมาที่ประเทศเรา แต่วันนี้ไทยมีทั้งสภาพคล่อง มีทุนสำรองเพียงพอที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ ดังนั้นคิดว่าปัญหาพวกนี้คงไม่เยอะ แต่ส่วนที่อยากเห็น คือ ความสามารถในการส่งออกมากกว่า”