posttoday

ชี้ไทยวิกฤตพลังงาน แนะหาแหล่งก๊าซใหม่ เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

06 พฤศจิกายน 2567

"ดร.คุรุจิต นาครทรรพ" แนะการเจรจาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาภายใต้กรอบ MOU ปี 2544 เป็นทางออกที่สำคัญ ไทยควรสนับสนุนกรอบการเจรจาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาติ และการดำเนินการภายใต้ MOU จะไม่กระทบต่ออธิปไตยของประเทศ

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย  กล่าวในสัมมนา พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย ที่จัดขึ้นโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ช่วง Panel Discussion: ทางรอด พลังงานไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่าการใช้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MoU) ปี 2544 ในการเจรจาเขตพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา หรือพื้นที่ OCA มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสถานการณ์พลังงานของไทยอยู่ในภาวะวิกฤตพลังงาน เพราะปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซใหม่มาตั้งแต่ปี 2548

 

ชี้ไทยวิกฤตพลังงาน แนะหาแหล่งก๊าซใหม่ เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

 

ขณะที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งในประเทศและแหล่งนำเข้าจากพม่าและเขตพัฒนาร่วม (JDA) ก็ลดลงอย่างน่ากังวล ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนและภาระงบประมาณของรัฐ

 

นอกจากนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมยังลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจจริง (real sector) และบริษัทผู้รับสัมปทานหลายแห่งเริ่มชะลอการลงทุนหรือลดการจ้างงาน

 

บทสรุปความจำเป็นในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อจัดหาแหล่งก๊าซฯในไทย

  • ปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเข้าขั้นวิกฤติ
  • ไม่มีการพบหรือผลิตแหล่งก๊าซใหม่มาตั้งแต่ปี2548 ก๊าซจากพม่าและ JDA ส่งมาได้น้อยลง
  • ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทบค่าไฟ
  • การจัดเก็บรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศลดน้อยลง กระทบงบประมาณแผ่นดิน
  • บริษัทผู้รับสัมปทานเริ่มชะลอการลงทุน ลดการจ้างงาน ถอนตัวไปลงทุนที่อื่น กระทบ Real Sector

 

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย

 

ดร.คุรุจิต กล่าวต่อไปว่า การเจรจาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาภายใต้กรอบ MOU ปี 2544 เป็นทางออกที่สำคัญ โดยไทยควรสนับสนุนกรอบการเจรจาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาติ และการดำเนินการภายใต้ MOU จะไม่กระทบต่ออธิปไตยของประเทศ

 

นอกจากนี้ดร.คุรุจิตยังได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการนำเข้า LNG กับราคาก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย โดยชี้ให้เห็นว่าก๊าซจากท่อในอ่าวไทยมีราคาถูกกว่าก๊าซ LNG ที่นำเข้า ทั้งยังเน้นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่น ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยที่มีความสามารถในการส่งก๊าซถึง 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันใช้งานเพียง 65% หากเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซผ่านท่อ จะช่วยลดค่าบริการผ่านท่อและทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สำหรับขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา (TC-OCA) นั้นต้องเจรจากำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่ OCA ส่วนบน (เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ)

 

นอกจากนี้ยังกำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาร่วม: และวางหลักการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจพบในพื้นที่ OCA ส่วนล่าง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง JDA (Joint Development Area)

 

ก่อนหน้านี้ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน “คุรุจิต นาครทรรพ“ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในนโยบายด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เคยแนะนำให้รัฐบาลเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) เพื่อเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้กรอบ MOU 2544  ชี้ประเทศรอไม่ได้ เหตุปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงภายใน 15 ปี ระบุการพึ่งพา LNG นำเข้า จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และประเทศจะสูญเสียการเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีจากการเปิดสำรวจปิโตรเลียมแหล่ง OCA  ประเมินเร็วสุด ทั้งการเจรจาและการสำรวจและผลิตจะต้องใช้เวลากว่า 8 ปี จึงจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้