posttoday

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย

07 พฤศจิกายน 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย จากนโยบายกีดกันทางการค้าในภาพรวมและผลจากการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานระบุว่า หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 และพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและสภาล่าง ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้มีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันให้ผ่านสภาฯ ได้ไม่ยากนัก ซึ่งหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 นโยบายเร่งด่วนที่คาดว่าจะเห็นใน 100 วันแรก ได้แก่ มาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือนรวมถึงการต่ออายุมาตรการลดภาษีที่ประกาศใช้ในปี 2560 มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการสนับสนุนการผลิตพลังงานฟอสซิลในประเทศ เป็นต้น

 

โดยหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมา ค่าเงินดอลลาร์ฯ ตอบรับแข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีเพิ่มขึ้น คาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ลดลง และความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับปรับสูงขึ้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะสูงขึ้น จากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันแรงงานอพยพ ตลอดจนการขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น ในขณะที่มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและมาตรการสนับสนุนการผลิตในประเทศ รวมถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจจะเพิ่มมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีน อาจช่วยสนับสนุนการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ซึ่งกว่าจะเห็นผลคงอาจจะต้องใช้เวลา ในขณะที่ในระยะสั้น อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงจาก Stagflation สูงขึ้น ซึ่งยังขึ้นอยู่กับมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่จะออกมาบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย

ซึ่งนโยบายกีดกันทางการค้าในภาพรวมและผลจากการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนโลก ยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ในระยะสั้นๆ ไทยอาจได้รับประโยชน์จากจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯและการนำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการเพื่อทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ PCA และของเล่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไปข้างหน้า สินค้าส่งออกของไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 12 (ปี 2566) ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด ซึ่งคงต้องติดตามและผลสุดท้ายน่าจะต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนที่มีมากขึ้น     

 

ไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต แต่ผลบวกคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ดอกผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (FDI) ไปยังประเทศต่างๆ คงจะไม่เกิดขึ้นในทันที และการพิจารณาเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการ ยังขึ้นกับอีกหลายเงื่อนไข ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนและโอกาสในการสร้างรายได้ระยะกลางของแต่ละสินค้าในแต่ละประเทศแล้ว คงอยู่ที่ว่าประเทศนั้นๆ จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีจากสหรัฐฯ เท่าใด และการถูกตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทจีนหรือเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของจีนมากน้อยเพียงใดด้วย