"ศุภชัย เจียรวนนท์" เสนอ 14 แนวทาง "ปฏิรูปการศึกษาไทย" สู่ยุค 5.0
"ศุภชัย เจียรวนนท์" เสนอ 14 แนวทาง "ปฏิรูปการศึกษาไทย" แนะรัฐ-เอกชนร่วมผลักดัน ย้ำการศึกษาเป็นรื่องของทุกคน ต้องผนึกกำลังสร้างคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทรานฟอร์มประเทศให้ก้าวทันโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แสดงวิสัยทัศน์ How to Reshape Thailand’s Education for the Future ปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างไรให้ก้าวทันโลก ภายในงาน The Standard Economic Forum 2024 : Brave New Word จัดโดยสำนักข่าว The Standard โดยได้เน้นย้ำถึงการศึกษาไทยต้องเร่งปรับจาก 2.0 เป็น 5.0 เพื่อให้ทันยุคสมัยในการเพาะบ่มปัญญาที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมเสนอ 14 แนวทางสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
นายศุภชัย เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความสามารถของบุคลากรของไทยจากข้อมูลของ IMD โดยในปีนี้ไทยอยู่อันดับที่ 47 จาก 67 ประเทศ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านการศึกษา และสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศคือ "มนุษย์" แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางระบบการศึกษา โดยเทียบจากการประเมินทักษะของเด็กในด้านต่างๆ รวมไปถึงสัดส่วนของครูและนักเรียน ประเทศไทยยังตามหลังอยู่มาก
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีการ "ปฏิรูปการศึกษา" เพื่อให้เกิดการพัฒนา "คน" ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดการแข่งขันในตลาดโลก แม้ว่าในตอนนี้เราจะยังอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูล อย่างไรก็ตาม เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคที่คนและเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน โลกมีความท้าทายในหลายด้าน เราจะต้องปรับตัวรับความท้าทาย ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนในประเทศปรับตัวได้ คือการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ เด็กทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ระบบการศึกษาจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย
นายศุภชัย มองว่า "การศึกษาคือการสร้างปัญญา" โดยกระบวนการที่จะพลิกโฉมการศึกษาจาก 2.0 เป็น 5.0 ได้ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด พร้อมทั้งเสนอ SI Transformation Model ที่ประกอบด้วย 5 ฐานสำคัญ คือ 1.Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีเป้าหมายว่าเด็กทุกคนต้องมีปัญญา เพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น
2. Market Mechanism การสร้างกลไกตลาดผ่านการให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วงเวลาทอง หรือ Primetime ของการออกอากาศ เพราะโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสังคมคือสื่อ
3. Leadership &Talents ครูต้องเป็นโค้ช และระบบการศึกษาต้องไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ พร้อมทั้งควรมีการปรับเงินเดือนของบุคลากรการศึกษาให้สูงขึ้น
4. Child Centric/Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning ต้องปรับให้เด็กเป็นนักค้นคว้า ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล" และควรต้องมีวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลกับเอไอ
และ 5. Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพและดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม
นอกจากนี้ ได้เสนอ 14 แนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาสู่ปี 2030 ประกอบด้วย 1.มีระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่โปร่งใส 2.วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ควรเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 3.เด็กทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์สะอาดใช้งานได้ครบถ้วน 4. ทุกโรงเรียนควรเปลี่ยนเป็น Learning Center 5.ตัวชี้วัดของบุคลากรทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนเป็นผลสัมฤทธิ์ด้านศักยภาพและคุณธรรมของเด็ก
6. รัฐต้องมี Incentive Content แก่ผู้ผลิต Content ในช่วง Prime Time 7. สนับสนุน 3,000,000 คน เป็นผู้มีทักษะดิจิทัล 8. สร้างสตาร์ทอัพ เพิ่มเป็น 20,000 ราย ภายในปี 2027 9. วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต้องไม่ใช่แค่เรื่องการคำนวณ แต่เป็นเรื่องการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา 10. ผลักดันมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
นายศุภชัย ได้เสนอแนะเพิ่มเติม ข้อ 11. ต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้านบุคลากร ICT TALENT เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีบุคลากรด้าน ICT 12.ควรให้ผลตอบแทนของผู้ที่เรียนจบมาเป็นครู สูงเทียบได้กับแพทย์ วิศวกร 13.ผู้อำนวยการ หรือครูใหญ่ 30,000 คน เป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดด้านการศึกษา ต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก
และ14. สร้างโรงเรียนให้เป็น Smart School เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และการใช้เอไอช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถปรับระบบการศึกษาฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลงรับความท้าทายโลกได้อย่างเท่าทัน
“การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน เราต้องช่วยกัน" นายศุภชัย กล่าว