สอน. จับมือ 10 โรงงานน้ำตาล MOA ร่วมลดเผาอ้อยนำร่องพื้นที่ปลูกอ้อย 1 แสนไร่
สอน. จับมือ 10 โรงงานน้ำตาล MOA ร่วมมือลดเผาอ้อย นำร่องพื้นที่ปลูกอ้อย 100,000 ไร่ สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) การเฝ้าระวัง และป้อมปรามการลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568
โดยเป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กับ 10 โรงงานน้ำตาลนำร่อง ว่า สอน. ตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในไร่อ้อย ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยสด สอดคล้องกับนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดรับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร
โดย 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ได้แก่
- บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด
- บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
- บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (รวมผล)
- บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด
- บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด
- บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด
- บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด
- บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด
- บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (วังสมบูรณ์)
ที่ผ่านมา สอน. ได้เฝ้าระวังการลักลอบเผาอ้อยด้วยการใช้จุดความร้อน (Hotspot) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 พบจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,830 จุด คิดเป็น 2.43%
จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 116,502 จุด เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอน. จึงได้ยกระดับการเฝ้าระวังการลักลอบเผาอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) สำหรับเก็บข้อมูลภาพยืนยันร่องรอยการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกที่ตรวจพบจุดความร้อนด้วยภาพถ่ายดาวเทียม และระบบอากาศยานไร้คนขับบินวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตตัน และค่าความหวานของอ้อย
“สอน. คัดเลือก 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องที่ผ่านเกณฑ์พิจารณา เช่น คุณสมบัติในด้านตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อยที่หนาแน่น ความพร้อมทั้งด้านวิสัยทัศน์ ด้านบุคลากรและสิ่งสนับสนุนขั้นพื้นฐานต่อการใช้งานระบบ และมีการกระจายตัวของตำแหน่งของโรงงานนำร่องอย่างทั่วถึง เป็นต้น มาทำข้อตกลงร่วมกันซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 100,000 ไร่ และคาดว่าการใช้เทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการติดตามอ้อยในแปลง จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สามารถใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในการป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย และจะสามารถขยายผลไปสู่การส่งเสริมรณรงค์ให้เกิดการผลิตอ้อยที่มีคุณภาพและตัดอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่” นายใบน้อยฯ กล่าวปิดท้าย