posttoday

ชาวนาเฮ! “นฤมล” อัพเกรดเงินช่วยชาวนาจาก 500 เป็นไร่ละ 1,000 ชงนบข.จันทร์หน้า

20 พฤศจิกายน 2567

รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยล่าสุด ปรับเงินช่วยชาวนาใหม่ เป็น ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท หลังมีการเรียกร้องและศึกษาผลกระทบแล้ว หากปรับเหลือไร่ละ 500 บาท เกษตรกรรายย่อยลำบาก เตรียมชง นบข. 25 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 มีความเห็นให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เสนอ นบข.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ตามที่มีรายงานไปวานนี้(19 พ.ย)นั้น

 

ล่าสุดมีรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อเรียกร้องจากเกษตรจำนวนมาก ให้พิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยของไทยส่วนใหญ่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ เงินช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ ทำให้นำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย.นี้ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอการช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่

โดย ข้อสรุปดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯพิจารณาถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพราะหากช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ ตามเดิม เกษตรกรรายย่อยที่มีที่นาเพียง 5 ไร่ ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน แต่หากปรับมาเหลือ 500 บาทต่อไร่ จะได้รับการช่วยเหลือเพียง 2,500 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ จะต้องใช้งบประมาณ 38,578 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่มีกรอบวงเงินอยู่ 29,980.1645 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ จะต้องมีการขอความเห็นจาก นบข.อีกครั้งหนึ่ง.

สำหรับข้อเสนอเดิม กรมการข้าวมีการเสนอจ่ายเงินช่วยชาวนามี 3 กรณี กล่าวคือ กรณีที่ 1 จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมอัตราดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 19,300 ล้านบาท

 

กรณีที่ 2 จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ และเป็นไปตามฤดูกาลการผลิตข้าวซึ่งอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้นปีการผลิต2568/2569 จะได้เสนอการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตข้าวต่อไป วงเงินคงเหลือ 2,429 ล้านบาท ดำเนินมาตรการเพิ่มระดับผลิตภาพ

 

และกรณีที่ 3 จ่าย 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวนวน 38,578 ล้านบาท.